เชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับพายุ ที่จะพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทย พร้อมเร่งหารือแก้ไขปัญหากรณีต้นยางนา

จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองรับการเกิดพายุที่จะพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทย และสำรวจปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงฤดูแล้ง พร้อมเร่งหารือแก้ไขปัญหากรณีต้นยางนา

วันนี้ (12 ต.ค. 64) นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายธนา นวลปลอด ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณ ภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมและเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ว่าจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเตรียมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมซักซ้อมแผน รองรับการเกิดพายุที่จะพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทย ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อน พบว่ายังมีไม่ถึง 50 % จึงได้มีการสำรวจปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อให้มีการบริหารจัดการการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้ง

ด้าน นายธนา นวลปลอด กล่าวว่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีการแจ้งเตือนภัยประชาชน เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์จากเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่ ผ่านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มระดับอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมเผชิญเหตุและเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า และแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการได้ทันท่วงที ทั้งออนไลน์ ออนแอร์ และออนกราวด์ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และการขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยในปี 2564 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (อุทกภัย) จำนวน 16 อำเภอ 59 ตำบล 429 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 57,082 ครัวเรือน 165,651 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย จำนวน 768 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 5,480.4 ไร่ ประมง 45 บ่อ/กระชัง ปศุสัตว์ 158 ตัว สิ่งสาธารณประโยชน์ ได้แก่ ถนนเสียหาย 427 สาย สะพาน 26 แห่ง และเหมือง/ฝาย 39 แห่ง อื่นๆ 605 และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกัลยาณิวัฒนา และอำเภอแม่แจ่ม รวม 4 ตำบล 29 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,301 ครัวเรือน 16,950 คน สิ่งสาธารณประโยชน์ ได้แก่ ถนน 16 สาย สะพาน 2 แห่ง เหมือง/ฝาย 5 แห่ง

ในโอกาสนี้ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความทรุดโทรมของต้นยางนา ว่าทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแล ตัดแต่งกิ่งไม้ ซึ่งจะมีกลไกลการผ่านคณะกรรมการกำกับดูแล และติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ได้มีการบูรณาการร่วมกันกับกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลงสำรวจต้นยางนา พบว่ามีต้นยางนาที่ทรุดโทรมเสียหายประมาณ 200 ต้น แต่มีต้นยางนาที่จำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟู ดูแลรักษา ประมาณ 30 ต้น ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว เพื่อความปลอดภัยของชาวบ้าน และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่เสียหายไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ จะได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหากรณีต้นยางนาในช่วงบ่ายนี้

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น