เด็กจำเป็นต้องฉีดวัคซีน ป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ?

พบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยเด็กเกิน 150,000 ราย ที่ติดเชื้อโควิด-19 คิดเป็นสัด ส่วนประมาณ 14% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน (จากตัวเลขของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

พบว่ามีเด็กจำนวนหนึ่ง ที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 แล้วพัฒนาอาการค่อนข้างรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้

มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เมื่อหายจากโรคโควิด-19 และมีภาวะแทรกซ้อน MIS-C (Multisystem inflammatory syndrome in children) หรือกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ในเด็ก

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่สามารถใช้ในเด็กได้ในปัจจุบันทั่วโลก มีอยู่ทั้งหมด 2 แพลตฟอร์ม

1. วัคซีน mRNA ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์ไบออนเทค และ วัคซีนโมเดอร์นา
วัคซีนไฟเซอร์ไบออนเทค : ในเด็กอายุ 12-15 ปี พบว่าวัคซีนไฟเซอร์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีไม่แตกต่างจากในผู้ใหญ่ตอนต้น และปลอดภัย โดยพบว่าอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการปวด บวม แดง ร้อนตำแหน่งที่ฉีด สำหรับอาการทางระบบ ได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว สำหรับประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเป็นวัคซีนหลักที่จะให้เด็กวัยเรียนในช่วงนี้

วัคซีนโมเดอร์นา : เป็นวัคซีนที่มีข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์เช่นเดียวกันว่าสามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12- 17 ปี (เพราะช่วงแรกวัคซีนชนิดนี้อนุมัติให้ใช้ในผู้ใหญ่ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) โดยขณะนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้แบบภาวะฉุก เฉิน ที่ประเทศทางกลุ่มยุโรปแล้ว ส่วนอเมริกากำลังรอขึ้นทะเบียนเพื่อขยายช่วงอายุ สำหรับประเทศไทยวัคซีนตัวนี้ ได้รับอนุมัติการขยายอายุเรียบร้อยแล้ว โดยให้สามารถฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป

2. วัคซีนชนิดเชื้อตาย ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนซิโนฟาร์ม ปัจจุบันใน ประเทศจีน วัคซีนทั้ง 2 ชนิด ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป สำหรับประเทศไทย บริษัทนำเข้าวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ กำลังได้ยื่นเรื่องเข้าไปที่ อ.ย. ของประเทศไทย และกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีนสำหรับการใช้ในเด็ก

ข้อมูลโดย รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามรับชมผ่านทาง Youtube : https://bit.ly/3mJEOi2

ร่วมแสดงความคิดเห็น