แพทย์ทหารเตือน “โรคฉี่หนู” (Leptospirosis) ภัยที่มักมากับน้ำท่วม

 

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 154 ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-

ด้วยอิทธิพลจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยใน 33 จังหวัด ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว 17 จังหวัด ส่วนอีก 16 จังหวัด ยังมีประชาชนประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ นั้น
ทั้งนี้ น้ำท่วมในระยะแรกอาจยังไม่มีเชื้อโรคมาก แต่เมื่อกลายเป็นน้ำขังก็จะสกปรกและมีเชื้อโรคมากขึ้น น้ำจึงเป็นที่มาของเชื้อโรคชนิดต่างๆ และหากต้องเดินย่ำน้ำแต่ละวันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมมากขึ้น เช่น “โรคฉี่หนู” (Leptospirosis) ซึ่งเชื้อนี้สามารถพบได้สัตว์หลายชนิด แต่พบมากในหนู โดยเชื้อโรคในตัวหนูจะออกมากับฉี่ของหนู และปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำ ซึ่งเชื้อที่อยู่ตามแหล่งน้ำนี้ สามารถเข้าทางผิวหนังของผู้ป่วยที่มีบาดแผล หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง และหากบริเวณบาดแผลไปสัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนู เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ตัวผู้ป่วย และก่อโรคได้

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อ Leptospira Interogans มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนและมีน้ำขัง
การติดต่อ
– โดยเชื้อที่ปนในน้ำ ในดิน เข้าสู่คนทางผิวหนัง หรือเยื่อบุ ที่ตา ปาก จมูก หลังจากได้รับเชื้อ โดยเฉลี่ย 10 วัน ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการของโรค คือ
– ปวดศีรษะทันที มักจะปวดบริเวณหน้าผาก หรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง
– ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณ ขา น่อง เวลากด หรือจับจะปวดมาก
– ไข้สูงร่วมกับหนาวสั่น อาการต่าง ๆ อาจอยู่ได้ 4-7 วัน
นอกจากอาการดังกล่าวผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง การตรวจร่างกายในระยะนี้อาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการตาแดง
การป้องกัน
– หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะของสัตว์นำโรค ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท
– ล้างเท้าหรือส่วนที่แช่อยู่ในน้ำเมื่อขึ้นจากการแช่น้ำทุกครั้งและรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
– เมื่อมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อน่อง โคนขา หลังหรือมีอาการตาแดง ให้รีบพบแพทย์ด่วน
การรักษา : ก่อนอื่นผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และยาที่มักจะได้รับ คือ ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน หรือ Doxycycline (อย่างไรก็ตาม ห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต)
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ประสบอุทกภัยและมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพขั้นต้น ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะหรืออาการขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น