ข่าวปลอม!! ดื่มน้ำอ้อยดำต้มใบเตย ช่วยลดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด

วันที่ 24 ต.ค. 64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันข้อมูลว่าเป็นข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ดื่มน้ำอ้อยดำต้มใบเตย ช่วยลดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการโพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสูตรเครื่องดื่มสมุนไพรอ้อยดำต้มใบเตย ซึ่งระบุว่าหากผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ดื่มน้ำต้มดังกล่าวจะช่วยลดลดลิ่มเลือดอุดตันนั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า อ้อยดำต้มใบเตยเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า โดยยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยัน ลดอาการลิ่มเลือดอุดตันได้

ซึ่งอ้อยดำ มีรสหวานขมชุ่ม สรรพคุณตำราไทย แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้หืด ไอ แก้คลื่นไส้อาเจียน ยังไม่พบการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนใบเตย มีรสหวานเย็น ใบมีกลิ่นหอม สรรพคุณตำราไทย เป็นยาช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ต้นและรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ มีงานวิจัยเกี่ยวกับใบเตยหอมและรากเตยหอมมีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน สารสกัดน้ำจากใบยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและลดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งตรงกับฤทธิ์ในการบำรุงหัวใจตามสรรพคุณยาไทย แต่ไม่พบการวิจัยเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

โดยการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งในปัจจุบันไม่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดอื่น อย่างไรก็ตามแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้สันนิษฐานว่าเป็นผลจากวัคซีน โควิด-19 ไปเพิ่มการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และภูมิคุ้มกันดังกล่าวนี้กระตุ้นการทำงานของเกล็ดเลือด เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดในอวัยวะต่าง ๆ นอกจากนั้นยังทำให้ปริมาณเกล็ดเลือดในร่างกายลดลงเนื่องจากเกล็ดเลือดส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้การสร้างลิ่มเลือดในขึ้นตอนแรก ในผู้ป่วยจะสามารถตรวจพบ anti-platelet factor 4 (anti-PF-4)/ heparin antibody คล้ายกับภาวะ heparin-induced thrombocytopenia (HIT) หากผู้ป่วยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะเกิดอาการในช่วงเวลา 5 – 42 วันหลังได้รับวัคซีน โดยหากท่านใดมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชา หรือ อ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตามัว เห็นภาพซ้อน ซัก เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ขาบวมแดงหรือซีดเย็น ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ให้เร่งพบแพทย์ใกล้บ้านเพื่อตรวจวินิจฉัย ค้นหาสาเหตุ และรักษาในสถานพยาบาลที่ท่านรักษาตัวเป็นประจำ

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : อ้อยดำ และใบเตย ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อีกทั้งการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น