(มีคลิป) 23 หน่วยงานในพื้นที่ จ.ลำปาง ร่วมทำ MOU แก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่ สานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน 23 หน่วยงาน ร่วมบูรณาการทำ MOU แก้ปัญหาความยากจนพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเปราะบาง
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วยผู้บริหาร ตัวแทนหน่วยงาน 23 องค์กร จากทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมทำพิธีลงนามสานความร่วมมือแบบบูรณาการ ขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการ “พัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พื้นที่จังหวัดลำปาง” ซึ่งได้มีการจัดพิธีลงนามทำ MOU ร่วมกันขึ้น ณ ห้องประชุมโอฬารรมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง


โดยมีนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ โดยมีข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง เข้าร่วมในพิธีเพื่อเป็นสักขีพยาน


ทั้งนิ้ สำหรับการลงนามทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นการลงนามความร่วมมือของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งล้วนมีความมุ่งมั่นในการที่จะค้นหา สอบทาน เพื่อจะส่งต่อความช่วยเหลือไปยังประชาชนกลุ่มเปราะบางและคนยากจนผู้มีรายได้น้อย โดยจะร่วมกันทำงานสร้าง “โมเดลแก้จน” ในพื้นที่นำร่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ขจัดความยากจน และพัฒนากลุ่มคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการลงนามทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ทั้ง 23 หน่วยงานองค์กร มีข้อตกลงร่วมกันที่จะบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางและคนจนกลุ่มเป้าหมาย ในเขตพื้นที่จังหวัดลำปางให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการสนับสนุนการดำเนินงานจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน และกลุ่มคนจนเป้าหมายระดับจังหวัด เพื่อจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการสอบทาน พิจารณาออกแบบจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุน ให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางและคนจนกลุ่มเป้าหมาย สามารถได้รับการช่วยเหลือเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึง รวมทั้งได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ในสิ่งที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นในการดำรงชีพ รวมถึงให้การช่วยเหลือในมิติศักยภาพด้านฐานทุน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบองค์รวมทั้งระบบ ตลอดจนจะร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำที่สามารถเชื่อมโยงกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัด


โดยเบื้องต้นตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ 23 หน่วยงานองค์กร ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในพื้นที่จังหวัดลำปางจะได้มีการดำเนินงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่ที่ได้มีการลงนาม ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองลำปาง เถิน แม่ทะ งาว และเมืองปาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น