เทศบาลเมืองแพร่ จัดกิจกรรมตักบาตรบนเมก รักษาประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เวลา 07.00 น. เทศบาลเมืองแพร่ นำโดยนายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแพร่ รองปลัดเทศบาลเมืองแพร่ ผู้อำนวยการกองการศึกษา หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล คณะครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดหัวข่วง พนักงานเทศบาล ภรรยาท่านวิเชียร อนุสาสนนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ สโมสรไลออนส์แพร่ สโมสรโรตารี สโมสรโรตารีเวียงโกศัย สโมสรฟุตบอลแพร่ยูไนเต็ด ชมรมร้านอาหารแผงลอยและพี่น้องประชาชน ร่วมทำบุญตักบาตรบนเมก ณ บริเวณประตูชัยกำเเพงเมืองแพร่ (เมก) และเชิญชวนให้ใช้ตระกร้าหรือถุงผ้าแทนถุงพลาสติกในการใส่ของทำบุญตักบาตร พร้อมทั้งแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง รักษาอัตลักษณ์การแต่งกายของจังหวัดแพร่ และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป จากนั้นได้รับฟังธรรมเทศนาจากคณะพระสงฆ์วัดสองแคว
เรื่องปริศนาธรรม 4 ประการ คือ


1. บ้านใกล้ท่า บ่มีน้ำกิน – ท่าในที่นี้หมายถึงวัด น้ำในที่นี้หมายถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเวลาทุกข์ร้อน มีปัญหา มีเรื่องให้ต้องพิจารณา กลับไม่เอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้แก้ปัญหา
2. ช่างปั้นดิน บ่มีหม้อใช้ – หม้อดินประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นของเปราะบางเปรียบเสมือนร่างกายของคนเรา ถ้าไม่ดูแลรักษา ไม่รู้จักใช้ร่างกายให้ถูกวิธี เอาสิ่งไม่ดีสุรายาเมาเข้ามาในร่างกาย สิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ก็จะบ่อนทำลายสุขภาพของตนเอง
3. เลี้ยงไก่ บ่ได้ยินเสียงขัน – หน้าที่ของไก่คือขัน ปลุกให้เราตื่น เปรียบเสมือนพระซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยเทศน์ไม่ค่อยสอน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ของไม่มีประโยชน์ ผู้ฟังไม่อยากฟัง พระองค์ก็ไม่ทรงตรัส”
4. ใคร่ขึ้นสวรรค์ หื้อไปแก้ผ้าในวัด – ภูมิรู้ ภูมิธรรม ตำรายาต่างๆ ตำนานพงศาวดารเมืองแพร่ องค์ความรู้เก่าแก่ที่อยู่ในพระคัมภีร์ตามวัดต่างๆ เช่น วัดในเขตเทศบาลเมืองแพร่ เรายังไม่เคยไปแก้ผ้านั่นก็คือการเปิดพระคัมภีร์เพื่อนำความรู้และหลักฐานต่างๆ เหล่านั้นมาศึกษาวิจัย ควรจะให้แต่ละวัดนำผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาปริวรรตธรรมหรือเปิดพระคัมภีร์ต่างๆ รวบรวมข้อมูลทำเป็นรูปเล่มให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะส่วนใหญ่เป็นภาษาล้านนา และเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญต่างๆ จากอดีตกาล ดังคำพูดที่ว่า “ของที่เราไม่เห็น ไม่ได้แปลว่าไม่มี”

ร่วมแสดงความคิดเห็น