(มีคลิป) ตัวแทนชาวนานับ 100 คน รวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ทวงถามข้อเรียกร้องขอช่วยเหลือปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 64 ตัวแทนเกษตรกรผู้ทำนาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมประมาณ 100 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย เพื่อติดตามทวงถามข้อเรียกร้องเพื่อขอความช่วยเหลือชาวนา กรณีราคาข้าวตกต่ำ โดยนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ปลัดจังหวัด เป็นตัวแทนของ ผวจ.เชียงราย มาให้การต้อนรับและร่วมชี้แจงความคืบหน้าของข้อเรียกร้องจากสภาเกษตรกร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงผลคืบหน้า

 

นายณรงค์ เขื่อนคำแสน สมาชิกสภาเกษตรกรอำเภอแม่สาย เผยกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าพบปะตัวแทนภาครัฐว่า สภาเกษตรกรจังหวัดเชียงรายได้รับการร้องเรียนเรื่องราคาข้าวตกต่ำจากบรรดาเกษตรกรในพื้นที่ ทางสภาเกษตรกรจึงได้เรียกประชุมตัวแทนเกษตรกรแต่ละอำเภอ และกำหนดข้อเรียกร้องต่างๆ จำนวน 9 ข้อ ไปยื่นผ่าน ผวจ.เชียงราย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ตอนนี้จะครบรอบเดือนที่ได้ยื่นข้อเรียกร้อง จึงได้มารวมตัวกันติดตามทวงถามความคืบหน้าในวันนี้

เมื่อตัวแทนชาวนามาพร้อมหน้ากันแล้ว ก็ได้คัดเลือกตัวแทน จำนวน 30 คน เพื่อไปร่วมพูดคุยกับตัวแทนภาครัฐ โดยฝั่งเกษตรกรนำโดยนายอัฐษฎานุพงษ์ ธรรมสาร และนายเลอสันต์ บุญเลิศ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย และฝั่งภาครัฐมีปลัดจังหวัด พาณิชย์จังหวัดเชียงราย และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จ.เชียงใหม่ ร่วมรับฟังและชี้แจงร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

โดยฝั่งเกษตรกรได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องตามที่เคยได้ยื่นเรื่องไป โดยเฉพาะปัญหาการชดเชยที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งทางฝั่งภาครัฐโดยนางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้ชี้แจงว่า ตามข้อเรียกร้องทั้ง 9 ข้อที่สภาเกษตรกรได้ยื่นเข้ามา ส่วนใหญ่จะเป็นขัอเรียกร้องในเชิงนโยบาย ทั้งการพยุงราคา การจัดโซนนิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของเบื้องบน เราไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ แต่ก็ได้นำเสนอข้อเรียกร้องไปยังอธิบดีกรมการค้าภายใน และบางปัญหาที่พอจะดำเนินการได้เราก็ได้ดำเนินการแล้ว เช่น การหาผู้รับซื้อจากนอกพื้นที่มาช่วยรับซื้อผลผลิตข้าวในจังหวัด โดยให้กรมการค้าภายในประสานผู้รับซื้อจากนอกพื้นที่ ปีนี้ผู้ซื้อจากจังหวัดพิจิตรเข้ามาซืัอผ่านระบบสหกรณ์ ซึ่งเราได้กำหนดสหกรณ์นำร่องจำนวน 3 แห่งคือ สหกรณ์พญาเม็งราย พาน และแม่สรวย ก็ยังรับซื้อไปถึงช่วงเดือน พ.ย. และเพิ่มโควต้ารับซื้อจาก 900 ตันจากปีก่อนเป็นรับซื้อไม่จำกัด โดยกำหนดราคารับซื้อที่ 6.10 บาท เพราะช่วงนี้ความชื้นของข้าวยังสูงอยู่ ส่วนปัญหาค่าเฉลี่ยค่าชดเชยราคาข้าวที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงก็ประสานกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งปัจจุบันชดเชยอยู่ที่ 300 กว่ากิโลกรัมต่อไร่ แต่ชาวนาผลิตข้าวได้ประมาณ 700 กก -1 ตันต่อไร่ ซึ่งไม่สอดคล้องความเป็นจริง

 

 

ด้านนางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จ.เชียงใหม่ เผยว่า สศก.เป็นหน่วยงานที่จะรวบรวมขัอมูลทางสถิติจากทั่วประเทศ และนำมาคิดเป็นค่าเฉลี่ยระดับประเทศ สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายต่างๆในภาพรวมของประเทศ ซึ่งภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงรายมีผลผลิตข้าวสูงมากกว่าเกณฑ์ประเมินจริง ซึ่งทาง สศก.จะได้รับเอาความเดือดร้อนดังกล่าวไปสู่การพิจารณาต่อไป

 

ด้านฝั่งเกษตรกรนำเสนอปัญหาของการแก้ปัญหาเบื้องต้นของภาครัฐ เช่น การกำหนดให้มีสหกรณ์นำร่องเพื่อรับซื้อข้าวจากเกษตรกร ซึ่งกำหนดไว้ที่ อ.พาน พญาเม็งราย และแม่สรวย ซึ่งเป็นกระจายจุดรับซื้อที่ไม่ทั่วถึงและยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร เพราะต้องจ้างรถบรรทุกข้าวเพื่อนำไปขายต่างอำเภอ ทำให้ขาดทุนหนักเข้าไปอีก และชี้แนะว่าควรกระจายจุดรับซื้อข้าวในทุกๆอำเภอ และชี้ถึงผลต่างของรายได้เกษตรกรและเจ้าของโรงสีที่แตกต่างกันมาก ทุกวันนี้ชาวบ้านขายข้าวเปลือกได้ 5 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาข้าวสารกลับพุ่งไปที่ 30-35 บาทต่อกิโลกรัม ไม่สอดคล้องกับคำว่า “กลไกตลาด” ที่แท้จริง

 

ภายหลังการพบปะพูดคุยระหว่างกลุ่มตัวแทนชาวนาและตัวแทนภาครัฐ กลุ่มชาวนาได้มารวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางเพื่อชี้แจงพูดคุยผลการหารือให้กับคนที่ไม่ได้เข้าร่วมรับฟัง โดยนายสมนึก วิงวอน สมาชิกสภาเกษตรกร อ.เทิง กล่าวว่า ผลการพบปะพูดคุยในวันนี้ก็รู้สึกพึงพอใจในระดับหนึ่ง เพราะมีทั้งพาณิชย์จังหวัดและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มารับเรื่องเดือดร้อนจากเกษตรกร คาดว่าหลังจากนี้ราคาข้าวคงจะขยับขึ้น ถ้ายังไม่ขยับเกษตรกรคงจะต้องขยับเอง

เช่นเดียวกับนายอัฐษฎานุพงษ์ ธรรมสาร รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ที่ได้กล่าวว่า หากราคาข้าวไม่ขยับขึ้น ในวันที่ 12 พ.ย. ที่จะถึงนี้ เกษตรกรชาวนาในจังหวัดเชียงรายจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง โดยจะยกระดับการเคลื่อนไหวที่มากขึ้น และอยากฝากไปถึงสภาเกษตรกรในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ให้ออกมาเรียกร้องบ้าง เพราะจังหวัดเชียงรายได้ออกหน้าเรียกร้องนำร่องแล้ว หากสภาเกษตรภาคเหนือได้ออกมาเรียกรัองให้พี่น้องเกษตรกรบ้างก็จะเป็นการดี

ซึ่งการรวมตัวของตัวแทนเกษตรกรดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการกระทบกระทั่งกันแต่อย่างได และเน้นการปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ร่วมแสดงความคิดเห็น