(มีคลิป) ตำรวจ N.E.D (ปทส.) เราทำดีด้วยหัวใจ เติมเต็มให้น้องอิ่ม

วันที่ 6 พ.ย. 2564 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช มอบหมายให้ พล.ต.ต.มานะ กลีบสัตบุศย์ ผบก.ปทส., พ.ต.อ.อริยพล สินสอน รอง ผบก.ปทส. ดำเนินการโครงการจิตอาสา หน่วยงานพระราชทานและประชาชนจิตอาสา พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปทส. และ พ.ต.ต.ยศวัฒน์ เอกกุล สว.กก.4 บก.ปทส. นำข้าราชการตำรวจ ปทส. ไปทำกิจกรรมจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เติมเต็มให้น้องอิ่ม ปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียนวัดปางมะโอ ทำป้ายโรงเรียนใหม่ ทาสีอาคารเรียน มอบทีวีจอแบนไว้เป็นสื่อการเรียนการสอน มอบตู้แช่แข็ง มอบผ้าห่มกันหนาว ถุงยังชีพ ขนม และเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน

ซึ่งมีอยู่จำนวน 24 คน ชาย หญิง มีครู 1 คน ครูผู้ช่วย 1 คน ครูเจมส์กล่าวว่า ตนทำหน้าที่เป็นทั้ง ผอ. นักการภารโรง ตลอดจนทำอาหารกลางวัน และกล่าวว่า โรงเรียนวัดปางมะโอตั้งอยู่ในหุบเขาเชียงดาว การเดินทางเข้าไปค่อนข้างยากและลำบาก น้อง ๆ นักเรียนจึงขาดโอกาสการเรียนรู้ด้วยสภาพภูมิประเทศ โรงเรียนไม่มีงบประมาณ ขาดตู้แช่อาหารสด ผลไม้ ซึ่งครูจะต้องซื้ออาหาร ผลไม้มาเตรียมไว้ทำอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน ตนในนามผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านปางมะโอรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง การได้รับบริจาคตู้แช่แข็งครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทางโรงเรียน และขอขอบคุณตำรวจ N.E.D. (ปทส.) อย่างสุดซึ้งที่มองเห็นความสำคัญของเด็ก ๆ ช่วยให้น้องอิ่มได้ทานอาหารสด ซึ่งในอนาคตโตขึ้นน้อง ๆ จะเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพ ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะต้นไม้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ สนใจแต่เรื่องปากท้องเป็นส่วนใหญ่

“บ้านปางมะโอ” เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีบรรยากาศโดยรอบที่สดชื่นและเย็นสบายตลอดทั้งวันชุมชนบ้านปางมะโอ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่แมะ-แม่นะ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนชาวล้านนาไทยผู้สืบทอดการทำป่าเมี่ยงแบบดั้งเดิม จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีต พูดถึงที่มาของคำว่า “ปางมะโอ” ว่า ในอดีตครูบาศรีวิชัยได้มาสร้างพระธาตุ โดยนำลูกส้มโอทองคำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “มะโอคำ” ตามภาษาพื้นเมือง มาฝังไว้บริเวณใต้พระธาตุ ส่วนคำว่า “ปาง” หรือ “ป๋าง” เป็นคำเรียกเพิงที่พักของชาวลั๊วะ ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มาก่อน จากคำว่า “มะโอคำ” จึงเพี้ยนมาเป็น “ปางมะโอ” จนถึงปัจจุบัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น