ศิลปินไทย-จีน ร่วมสร้างสรรค์ศิลปะแม่น้ำโขง วอนเห็นใจคนท้ายน้ำ แนะผู้มีอำนาจประเทศท้ายน้ำรวมตัวกันต่อรอง ชี้น้ำโขงไม่ได้เป็นของใครแต่เป็นของโลก

ศิลปินไทย – จีน รวมตัวกันสร้างผลงานศิลปะ ริมแม่น้ำโขง เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในแม่นำโขง และระบบนิเวศที่หายไป เพื่อต้องการสื่อสารให้ประเทศที่อยู่ต้นน้ำ หันมาสนใจ และเป็นห่วงถึงประเทศท้ายน้ำ เพราะแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นของใคร แต่เป็นของโลก แนะให้ผู้มีอำนาจประเทศท้ายน้ำรวมตัวกันต่อรอง เพื่อให้น้ำโขงกลับมามีชีวิต

วันที่ 7 พ.ย.64 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กลุ่มศิลปินไทย-จีน นำโดย นายวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหว ได้ร่วมกันแสดงผลงานภายหลังจากลงพื้นที่แม่น้ำโขง-แม่น้ำอิงและชุมชนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบในแม่น้ำโขงจากการสร้างเขื่อน โดยมีการสร้างสรรค์ผลงาน ในของตัวเอง และจะนำผลงานบางส่วนไปจัดแสดงที่หอศิลป์กวางเจา

 

นายวสันต์ สิทธิเขตต์ กล่าวว่า คนเองได้มาทำงานศิลปะเมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่ครั้งนี้เห็นขยะมากขึ้น ขณะที่เรือประมงหายไปมาก โดยเมื่อลงพื้นที่ชุมชนหาปลาที่บ้านปากอิงได้เห็นชาวบ้านดึงตาข่ายกลับมาโดยไม่ได้ปลาสักตัวซึ่งสะท้อนสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นงานศิลปะที่ตนทำจึงพูดถึงปลาที่กำลังสูญพันธุ์จากการกระทำของมนุษย์ และความสัมพันธ์ทั้งหมดเปลี่ยนแปลง ทั้งที่เรามีตัวอย่างเรื่องกรณีสร้างเขื่อนปากมูนซึ่งเป็นความพ่ายแพ้เพราะปัจจุบันแทบไม่มีปลา เราจึงอยากสื่อสารให้คนรับรู้ว่าแม่น้ำไม่ใช่ของใคร แต่เป็นของโลก ถ้าไม่มีน้ำคนก็อยู่ไม่ได้ อยากให้ช่วยกันดูแล อยากให้คนมีอำนาจรับรู้ว่าสำคัญมาก เพราะทุกวันนี้น้ำกลายเป็นสิ่งมีค่ามาก ประเทศมหาอำนาจจึงอยากเก็บน้ำให้ได้มากสุด แต่ไม่คิดว่าอยู่ร่วมโลกเดียวกัน เราอยากให้แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำแห่งสันติภาพไม่ต้องแย่งชิงน้ำกัน ผู้ที่มีอำนาจควรสำรวจว่าชุมชนเคยอยู่กันอย่างไร และถ้าจะอยู่ต่อควรหาทางออกให้ชาวบ้านอยู่กับธรรมชาติอย่างไร คนมีอำนาจควรคุยกับประเทศข้างบนเพื่อจัดการให้มีดุลยภาพ ไม่เช่นนั้นคนอยู่ไม่ได้

 

 

“เราอยู่สายน้ำเดียวกันจากยูนานถึงปากน้ำโขงที่เวียดนาม อยากให้ทุกประเทศได้ใช้แม่น้ำร่วมกัน งานศิลปะจึงพยายามเชื่อมโยงให้คนเข้าใจ แต่ศิลปินจีนอาจพูดไม่ได้มากนักโดยเฉพาะเรื่องเขื่อน เช่นเดียวกับคนลาว คนกัมพูชาก็พูดไม่ได้ เพราะกระทบนโยบาย แต่ตราบใดที่จีนเห็นแก่ตัว ทั้ง 5 ประเทศก็อยู่ด้วยกันลำบาก ดังนั้นประเทศท้ายน้ำควรรวมตัวกันต่อรอง เพราะหากแม่น้ำแห้งเหือด แหล่งปลูกข้าวในเวียดนาม หรือโตนเลสาบก็ย่อมได้รับผลกระทบหนักซึ่งชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ อยากให้รัฐบาลจีนตระหนัก ควรปล่อยน้ำจากแม่น้ำโขงให้ไหลเป็นอิสระและใช้น้ำร่วมกัน ซึ่งจีนก็จะได้เป็นพี่ใหญ่ที่ดีไม่ใช่อันตพาล” นายวสันต์ กล่าว

 

 

นายชุมพล อภิสุข หนึ่งในศิลปินที่มาสร้างสรรผลงาน กล่าวว่า ตนกำลังตั้งคำถามกับการพัฒนาฝั่งโขง โดยเฉพาะเรื่องการถมหินหรือการก่อสร้างโครงสร้างแข็งริมแม่น้ำโขง ว่าเป็นความจำเป็นหรือไม่และมีส่วนช่วยเพิ่มผลกระทบหรือไม่ แต่ที่ประทับใจในการลงพื้นที่ครั้งนี้คือชุมชนและผู้คนโดยเฉพาะลุ่มน้ำอิง เห็นชัดว่าชาวบ้านมีความตะหนักรู้สูงและร่วมมือกันรักษาป่าชุมน้ำไว้ได้ดี โดยชาวบ้านบอกว่าแม้สายไปหน่อยแต่ยังดีกว่าไม่มีเหลือเลย เหลือเพียงผืนป่าชุ่มน้ำซึ่งมีความหวังว่าจะขยายพื้นที่ไปได้อีก ขณะที่แม่น้ำโขงนั้นแทบสิ้นหวังเพราะกลายเป็นเพียงทางเดินของน้ำ คงเรียกร้องเอาความอุดมสมบูรณ์คืนไม่ได้ง่ายๆ แม้จีนจะยกเลิกเขื่อนแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพลิกฟื้นกลับคืนมาได้โดยง่าย กลายเป็นประเทศที่อยู่เหนือน้ำ ใช้น้ำเป็นยุทธปัจจัยและเครื่องมือในการครอบครองเพราะมีพลังมากกว่าการรุกโดยกองทัพหรือทางทหาร ที่ผ่านมาได้ถามชาวประมงเขาบอกว่าต้องไปทำมาหากินอย่างอื่น ทั้งๆที่สมัยก่อนการหาปลาเป็นรายได้หลัก แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วจึงต้องไปรับจ้าง หากกระแสน้ำยังเป็นเช่นนี้คือไม่เป็นไปตามฤดูกาล พืชหรือสัตว์ใต้น้ำก็คงหมดไป เพราะพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาแทบไม่มีแล้ว รวมถึงมีขยะมากมาย

 

การสร้างศิลปะในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับศิลปินในความรู้สึกที่เขาประทับใจคืออะไร เช่น แม่น้ำ สายลม แสงแดด หรือที่นั่งเรือไปเห็นขยะลอยมามากมายก็ได้ความรู้สึกอีกแบบซึ่งทำให้เป็นกังวลและสงสารแม่น้ำ แต่ส่วนใหญ่ศิลปินให้ความสนใจเรื่องความเป็นมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติหรือวิถีชีวิตของแม่น้ำที่หายไป เป็นภาวะที่เจ็บปวด ซึ่งการที่ศิลปินได้ลงพื้นที่ในระยะเวลาสั้นๆได้แค่สัมผัสอย่างเดียว แต่ความทุกข์และสุขเราได้รู้จักเพียงผิวเผิน อย่างไรก็ตามศิลปินก็อยากชักจูงให้คนสนใจพื้นที่ ที่ผ่านมารัฐบาลจีนไม่ค่อยได้รับฟังเพราะคิดเพียงสร้างโครงการให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเขาคงไม่อยากเห็นอะไรที่ไปขัดขวาง ขณะที่คนทำงานศิลปะครั้งนี้ก็ทำงานได้แค่ระดับหนึ่งเพื่อทำให้แม่น้ำล้านช้างกับโขงเชื่อมต่อกัน ส่วนจะขอความเห็นใจหรือความเป็นธรรมต่อจีนได้หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ลำบากเพราะโครงสร้างรัฐจีนไม่ได้เอื้อต่อความเป็นมนุษย์ เราสัมผัสได้เพียงสามารถยับยั้งหรือยืดเวลาออกไป แต่ในเวลเดียวกันเขาก็บริหารจัดการน้ำเรียบร้อยจนแม่น้ำโขงกลายเป็นท่อส่งน้ำไปแล้ว เช่นเดียวกับรัฐบาลส่วนใหญ่เชื่อว่าสามารถพัฒนาลุ่มน้ำโขงให้สองฝั่งมีเศรษฐกิจที่ดีรวมถึงคนจีนที่เข้ามาทำมาหากินโดยเขาคิดว่าคงเป็นเรื่องที่ดี

 

 

“แนวคิดหนึ่งคือเราพยายามทำให้เห็นว่าแม่น้ำนี้ไม่ใช่ของใครแต่เป็นของโลก ไม่ว่าแม่น้ำนั้นจะอยู่ในประเทศหรือไหลผ่านชายแดน เพราะเราต้องการให้คนเข้าใจถึงธรรมชาติ เรามีความหวังว่าเขาจะฟัง แม้จะยาก”นายชุมพล กล่าว

ด้าน นายเรียน จินะราช อดีตพรานปลาบึกและผู้อาวุโสชุมชนริมแม่น้ำโขง กล่าวว่า เมื่อก่อนแม่น้ำโขงมีปลาชุกชุมมากขนาดไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมากก็จับปลาดได้ทีละเยอะ โดยในช่วงหน้าแล้งซึ่งร้อนและไม่รู้ไปไหนก็ลงหาปลา โดยเฉพาะปลาบึกที่มีอยู่เรื่อยๆ อพยพมาจากที่อื่นโดยออกจากถ้ำและเราได้ทำพิธีขอปลาบึกตัวที่เจริญวัยเต็มที่ โดยปลาบึกออกมาในช่วงสงกรานต์ทุกๆปี โดยปู่ย่าตายายได้คิดค้นวิธีจับปลาบึก ตอนแรกใช้ฉมวกแทง แต่แทงไม่เข้าเพราะปลาบึกมีหนังหนาและลื่น จึงคิดทำแหแต่ไม่รู้เอาเส้นด้ายขนาดใหญ่มาจากไหน จึงใช้ต้นป่านมาทำเป็นเส้นและถักเป็นแห แต่ปัญหาคือต้องเป็นแหที่มีขนาดใหญ่และตากว้างซึ่งต้องใช้พลังมหาศาลเพราะปลาบึกตัวใหญ่จึงต้องดึงกันไปมา และปลาบึกก็ฉลาดขึ้น ในที่สุดเราต้องพัฒนาเป็นตาข่ายที่มีขนาดใหญ่ยาว 30 วาโดยทำจากปอเช่นกัน จนระยะหลังราวๆปี 3530 จึงเปลี่ยนเป็นไนล่อนซึ่งต้องซื้อที่หลวงพระบาง เพราะกรุงเทพฯไปลำบากกว่า

นายเรียนกล่าวว่า ในอดีตเชื่อว่าปลาบึกว่ายไปวางไข่ที่ทะเลสาบต้าหลี้ในจีน แต่พอมีเขื่อนกั้นปลาบึกจึงไม่รู้ไปวางไข่ที่ไหน โดยปลาบึกตัวเมียทุกตัวที่จับได้จะมีไข่ซึ่งแต่ละตัวมีไข่ 60-70 กิโลกรัม แต่การฟังเป็นตัวและเติบใหญ่มีน้อยเพราะมีศัตรูในธรรมชาติมาก และวิธีวางไข่คือการปล่อยไหลไปกับน้ำ โดยตั้งแต่เด็กจนถึงขณะนี้ตนไม่เคยเห็นปลาบึกตัวน้อยในแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่หนักกว่า 100 กิโลกรรมขึ้นไป

“ผมเชื่อว่าปลาบึกยังไม่หมดไปจากแม่น้ำโขง แต่ไม่ได้อพยพขึ้นมาเหมือนในอดีต กลายเป็นปลาประจำถิ่น ความเจริญของบ้านเมืองไปทำลายธรรมชาติ ทำอย่างไรให้การพัฒนาคิดถึงธรรมชาติด้วย สาเหตุหลักที่ปลาบึกหายไปคือการสร้างเขื่อนปิดกั้นเส้นทางน้ำ การเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ ”นายเรียน กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น