ไฟเขียวร่างแผนพัฒนาฉบับ13 ตั้งเป้าพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า

คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564รับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม
แห่งชาติ (สศช.) เสนอ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) หรือแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งมีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย (ไทย) สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ปัจจุบัน สศช. อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564นี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป


สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีหลักการและแนวคิด 4 ประการ ได้แก่ (1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(2) แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน(3) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ยังคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของบริบทในระดับประเทศและระดับโลกในระยะยาวอันเป็นผลสืบเนื่องจากโควิด -19


ทั้งนี้เป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผลกำหนดไว้ 5 ประการ เช่น การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ เป็นต้น อีกทั้งยังมีรายละเอียดหมุดหมายการพัฒนา กำหนดไว้ 13 หมุดหมาย ใน 4 มิติ เช่น ภาคการผลิตและบริการมี 6 หมุดหมาย กำหนดให้ ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวคุณภาพและยั่งยืน เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ที่ผ่านๆมา การจัดทำกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนทั้ง หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เพราะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเสมือนก้าวที่ 2 ของการวางรากฐานพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การจัดทำร่างกรอบแผนนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องทราบสิ่งสำคัญ ๆ 3 ประการ คือสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่พึงปรารถนาในปัจจุบัน สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่พึงปรารถนาในอนาคต การกำหนดสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง และวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลง สาระของกรอบแผนพัฒนาฯ

ฉบับที่ 13 มีสิ่งที่ต้องทำ คือ การเปลี่ยนผ่านประเทศ ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากร ไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่ มีความเหลื่อมล้ำลดลง ทั้งในเชิงธุรกิจ พื้นที่ รายได้ และความมั่งคั่ง การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

ร่วมแสดงความคิดเห็น