(มีคลิป) ทีมสัตวแพทย์ปางช้างแม่สา ช่วยเหลือ “แม่น้อย” ช้างชราเพศเมีย นอนดิ้นจนไถลลงจากเนินไปติดอยู่ในท้องร่อง

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564 เวลา 06.30 น. นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้แจ้งผู้สื่อข่าวว่า มีช้างชราเพศเมียชื่อแม่น้อย ซึ่งควาญช้างไปพบว่านอนดิ้นจนไถลลงจากเนินไปติดอยู่ในท้องร่องบริเวณบ้านพักช้างชราของปางช้างแม่สา สืบเนื่องจากช้างชราของแม่สาในช่วงนี้มักจะลุกไม่ขึ้นในช่วงเช้า ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง ทางปางช้างจึงต้องเตรียมรถยกและทีมงานไว้สแตนบายตลอดเวลา จากนั้นทีมงานจึงเร่งเตรียมสถานที่ และรถเครนยกแม่น้อย โดยใส่อุปกรณ์ที่คล้องตัว พร้อมกะระยะห่างระหว่างช้างและรถยก โดยมีสัตวแพทย์ควบคุมงานจำนวน 2 คนและทีมควาญช้างอีกกว่า 10 คน

นางอัญชลี กล่าวอีกว่า ช้างแม่น้อยมีน้ำหนักประมาณ 2,500 กิโลกรัม สภาพร่างกายยังลุกไหว ไม่อ่อนแรงมาก จังหวะยกต้องรอให้ช้างพอมีแรง ยกตัวได้ การทำงานช่วยเหลือชีวิตช้างต้องมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว บางเคสต้องยกแล้วปล่อยหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับช้างที่ต้องให้ความร่วมมือด้วย เคสนี้ถือว่าทีมงานมีความพร้อม และช้างอยู่ในพื้นที่ที่การทำงานไม่ยากจนเกินไป (รถเข้าถึง และพื้นที่ไม่ลาดชัน) โดยเฉพาะตัวช้าง ยังสามารถยันตัวลุกได้ดี จึงช่วยได้มาก ที่ต้องระวังคืออาการตื่นตระหนกของช้างต่อเสียงเครื่องจักร และสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ทุกขั้นตอนต้องให้เวลากับช้างชราอย่างแม่น้อยค่อยๆลุก ค่อยๆทำตามสเต็บและฟังเสียงสัญญาณจากนายสัตวแพทย์ ที่ต้องพร้อมจะเข้าช่วยเหลือในด้านการรักษาทันทีในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น

“สรุปว่าแม่น้อยสามารถลุกขึ้นยืนสี่ขาได้ ขณะนี้สัตวแพทย์ได้ปลดเครนออกและให้การรักษาต่อตามอาการแล้ว ปางช้างแม่สาเป็นปางช้างที่ดำเนินกิจการมาแล้ว 45 ปี มีช้างในความดูแลจำนวน 70 เชือก ช้างและควาญอยู่ด้วยกันมานานจนแก่เฒ่า ปางช้างมีนโยบายการเลี้ยงช้างเอง ไม่มีการจำหน่ายออก หรือแลกเปลี่ยนเอาช้างอายุน้อยเข้าปาง เอาช้างแก่ออกจากปาง จึงทำให้ช้างชราที่นี่มีจำนวนมากขึ้น ปางช้างแม่สาเข้าสู่การดูแลช้างชราก่อนที่อื่น”

“ช้างชราของปางช้างมีสิบกว่าเชือก ถ้าพูดถึงความชราคือช้างที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป สุขภาพของช้างก็แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ลักษณะงานที่เคยทำในช่วงชีวิตที่ผ่านมาและการเลี้ยงดู บวกกับการดูแลสุขภาพ ดังนั้นช้างชราคือคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายที่ทางปางช้างแม่สาจะเลี้ยงดู และดูแลจนจากไปทุกเชือก และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมปางช้างแม่สาในยุคสมัยนี้ต้องให้ช้างหยุดทำงาน ทำการฟื้นฟูสุขภาพ ยกเลิกการแสดงช้าง ยกเลิกการใส่แหย่งให้คนนั่ง เป็นเพราะทางผู้บริหารได้พิจารณาแล้ว พบว่าอะไรเหมาะกับช้างที่สุด สิ่งไหนที่ทำแล้วจะช่วยรักษาชีวิตช้างไว้ให้ยืนยาว อะไรคือการช่วยฟื้นฟูสุขภาพ การสร้างครอบครัวช้าง การอนุรักษ์ การเพิ่มจำนวน รวมถึงการดูแลช้างอย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับสังคม ให้สังคมเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วม จะได้ช่วยอนุรักษ์ช้างไทยให้สำเร็จไปด้วยกัน” นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น