เกี่ยวข้าว เรียนรู้การทำนาวิถีชุมชน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

รร.บ้านแพะพิทยา พานักเรียนเกี่ยวข้าวเรียนรู้นอกตำรา ทำนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกทักษะการเรียนรู้การทำนาตามวิถีชุมชน ปลูกฝังนิสัยการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้แก่นักเรียน และเป็นการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมการทำนาตามวิถีชุมชนกะเหรี่ยง
วันนี้ 12 พ.ย. 64 ดร.กัญญาพัชร พงษ์ดี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 เป็นประธานในพิธี โดยมีนายสมพงษ์ เขื่อนขวา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแพะพิทยา พร้อมด้วยคณะครูบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาและนักเรียน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ในพิธีเปิดโครงการเรียนรู้การทำนาวิถีชุมชน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (เกี่ยวข้าว) จำนวน 8 ไร่ ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดี นายชุมพร สุแดนไพรพฤกษ์ เจ้าของที่ดิน ได้สนับสนุนมอบแปลงที่นา เพื่อให้ทางโรงเรียนได้จัดแปลงสาธิตทำนาตามวิถ๊ชุมชน ให้เด็กนักเรียนได้ลงมือปฎิบัติและเป็นการเรียนนอกตำรา ณ แปลงนาสาธิตโรงเรียนบ้านแพะพิทยา ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน


โดยนายสมพงษ์ เขื่อนขวา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแพะพิทยา ได้กล่าวว่า โรงเรียนบ้านแพะพิทยา เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนทั้งหมด 196 คน มีนักเรียนพักนอนประจำ ที่อยู่บ้านไกลไม่สามารถเดินทางไปกลับได้ เป็นนักเรียนชนเผ่ากะเหรี่ยงมีฐานะทางครอบครัวที่ยากจน ประกอบอาชีพทำการเกษตรและรับจ้าง มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมจากสังคมในเมืองต่าง ๆ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ทิ้งวิถีทำมาหากินแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีความยั่งยืนต่อมนุษย์และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หันมาใช้ชีวิตที่เน้นความสะดวกสบาย ทางโรงเรียนเล็งเห็นว่าถ้าไม่มีการปลูกฝังหรืออนุรักษ์วัฒนธรรมการทำนาปลูกข้าวแบบดั้งเดิมอาจจะส่งผลให้นักเรียนยึดถือแต่ความสะดวกสบาย ทำงานไม่เป็น ไม่สู้งาน ไม่มีความอดทน หลงลืมวิถีชีวิตที่ดั้งเดิมแบบดีงามที่เรียบง่าย ที่มีความรักและสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำงาน


โรงเรียนบ้านแพะพิทยาจึงได้จัดทำโครงการเรียนรู้การทำนาวิถีชุมชน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้นอกตำรา การทำนาตามวิถีชุมชนให้แก่นักเรียน ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกแก้ปัญหา ซึ่งเป็นแก่นแท้ในการประกอบอาชีพทุกอาชีพในอนาคต โดยบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้เข้ามาในโครงการนี้ รวมถึงระดมชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยในวันนี้ได้นำเด็กนักเรียนระดับมัธยม 1 -3 มาร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าว ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว จะทำให้ได้รับผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 500 ถัง และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นอาหารกลางวัน รวมถึงอาหารมื้อเย็นสำหรับเด็กนักเรียนหอที่พักนอน เนื่องจากอยู่หมู่บ้านห่างไกล ทำให้ทางโรงเรียนสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในเรื่องของข้าวสารไปได้ส่วนหนึ่ง และจะมีโครงการต่อเนื่องตลอดไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น