เยี่ยมชมศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยมี ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับมอบคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ซึ่งมีอายุอาคารประมาณ 130 ปี (จากการสืบค้นข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าสร้างราวๆ ปี พ.ศ.2429-2436 ตรงกับปลายรัชกาลที่ 5 ของสยามประเทศขณะนั้น) จากคุณยายเรียงพันธ์ ทิพยมณฑล และ อ.จุลทัศน์ กิติบุตร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 / และหากนับจากวันที่ได้รับมอบคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้รับความไว้วางใจจากตระกูลทิพยมณฑล และกิติบุตร ให้ดูแลและบริหารจัดการคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) อาคารประวัติศาสตร์งดงามใจกลางเวียงเก่าเชียงใหม่ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมล้านนาที่สำคัญของเมืองและภูมิภาค

เพื่อให้เป็นสถานที่ส่งต่อองค์ความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมล้านนา และศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า รวมถึงตัวอาคารคุ้ม ยังเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาเรียนรู้เรื่องอาคารในยุคสมัย 130 ปี ได้อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมโดยใช้ศิลปวิทยาการสมัยใหม่ ประสานกับภูมิปัญญาช่างล้านนาโบราณ จนออกมาสวยงามอย่างที่ทุกท่านกำลังจะได้สัมผัสผ่านอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) แห่งนี้

ปัจจุบัน ภายในอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ได้มีการจัดแสดง ห้องจำลองวิถีชีวิตเจ้านายฝ่ายเหนือในสมัยก่อน และนิทรรศการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมล้านนาประเภทวัดและเรือน รวมทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติอาคาร 130 ปี คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) และนิทรรศการหมุนเวียนที่เกิดจากความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม “Fluidity of Scenes” ซึ่งเป็นนิทรรศการคู่ขนานไปได้ดีกับประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนผ่านเวลาอันยาวนาน 130 ปี ของคุ้มเจ้าบุรีรัตน์แห่งนี้ และยังเป็นก้าวแรก แห่งการเชื่อมโยงเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในเมืองเชียงใหม่อีกทางหนึ่งด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น