(มีคลิป) “กาดเกรียงไกรมาหามิตร” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ช้อปของฝากงานคราฟ อุดหนุนกาดชุมชน

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

คุณเนรมิต สร้างเอี่ยม เปิด “กาดเกรียงไกรมาหามิตร” ดันให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ช้อปของฝากงานคราฟ อุดหนุนกาดชุมชน

ความเป็นมาของกาด มีที่มาอย่างไร?

จริงๆ ตรงนี้เป็นพื้นที่ของ โรงงานเกรียงไกรผลไม้ เราอยู่ตรงนี้ตั้งแต่ปี 2524 ก็นับถึงวันนี้ก็ 40 ปีแล้ว เป็นโรงงานดองผลไม้แต่ว่ามีหน้าร้าน ชื่อว่า เกรียงไกรเอาท์เล็ต คำว่า Outlets เป็นเรื่องของร้านค้าขายของที่เราผลิตเอง พอความนิยมเกรียงไกรเอาท์เล็ตเพิ่มมากขึ้น ก็เริ่มขยายสินค้าให้มีชุมชนเครือข่ายใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่เอาของมาขายที่นี่ด้วย ก็เลยขยายจากคำว่า เอาท์เล็ต ที่ขายของโรงงานอย่างเดียว กลายเป็นร้านขายของฝากของ อ.แม่ริม ที่ใช้พื้นที่ 300 ตารางเมตร ซึ่งดูเหมือนจะใหญ่ แต่ว่ามันไม่มีอะไรบริการนอกจากขายของ ลูกค้าที่มาเองก็มักจะมาถามว่า ทำไมไม่มีเครื่องดื่มอะไรเลย? มีร้านกาแฟหน่อยสิ ก็เป็นจุดกำเนิดว่า ต้องมีร้านเครื่องดื่มและร้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น

ซึ่งก็เป็นงานที่เราไม่ได้ถนัด เพราะเราทำเรื่องดองผลไม้ ดองกระเทียม ดองบ๊วย ดองมะนาว ก็เลยเริ่มคิดว่จากทำร้านเครื่องดื่มร้านเล็กๆ อยู่ในร้าน แต่ว่าพอดูแล้วพื้นที่ดูเหมือนจะไม่ได้ ก็เลยเดินกลับไปสำรวจพื้นที่ มาวันหนึ่งก็เห็นมีโกดังใหญ่ๆ สูง 15 เมตร พื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร ซึ่งแต่เดิมเป็นที่กองเก็บไหอยู่ 50,000 ใบ ที่ใช้ดองกระเทียม ดองบ๊วย ดองท้อ แต่ปัจจุบันเนี่ยมันไม่ได้ใช้เพื่อการนั้นแล้ว เราเปลี่ยนวิธีการดองเป็นอย่างอื่น สมัยก่อนไห 50,000 ใบ เคยขายออกไปแล้ว เราก็ไปดองแบบวิธีอื่นเป็นถังใหญ่ๆ ถัง Food grade ดอง จนมาวันหนึ่งเราอยากจะกลับมาดองใหม่ ไปหา 50,000 ใบกลับมาก็หาไม่ได้แล้ว ได้กลับมาเพียง 3,000 ใบ ทำให้ในพื้นที่โกดังว่าง จึงผุดไอเดียวทำร้านกาแฟในนี้ดีกว่าก็เป็นจุดเริ่มต้น

เมื่อพื้นที่โกดังมีมากถึง 1,000 ตารางเมตร การทำร้านกาแฟ 1,000 ตารางเมตร นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราก็เลยคิดว่าตรงนี้ทำเป็นตลาดดีกว่า เป็น “ตลาดชุมชน” ในบริเวณ อ.แม่ริม มีตลาดอยู่หลายแห่ง มีกาดมั่ว ตลาดนัด ตลาดเช้า แต่ยังไม่มีตลาดที่เป็นตลาดแบบสมัยใหม่ สมัยก่อนผมไปที่ลอนดอนผมเจอ Borough Market อะไรต่างๆ คิดว่าน่าจะมีตลาดแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา ก็เลยเอาพื้นที่โกดังเนี่ยโรงงานเกรียงไกรผลไม้ ทำร้านกาแฟในนั้น แล้วชวนพ่อค้าแม่ค้า พ่อกาด-แม่กาด มาอยู่ด้วยกัน และยังมี ร้านน้ำแข็งใส มีแกลลอรี่แสดงศิลปะ นี่เลยเป็นที่มาเป็นเรื่องราวใหญ่โต เกิดเป็นกาดแห่งนี้ขึ้นมาที่ชื่อกาด “เกรียงไกรมาหามิตร”

แนวคิดหรือวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นกาดชุมชุน

จากที่เล่าในตอนต้น ที่ได้ไปเจอที่ ลอนดอนเราเห็นคนที่ขายอยู่ในนั้น เป็นคนท้องถิ่นทั้งนั้น รายได้ก็อยู่ในท้องถิ่น รู้สึกว่ามันดีกับการที่จะหาสินค้าสักที่มีความเป็นเอกลักษณ์ หรือเป็น Identity เมื่อนึกถึงสินค้านั้นต้องมาในท้องถิ่นพื้นที่นี้ซึ่งมีอยู่รายเดียว ต้องมาที่นี่เท่านั้นถึงจะเจอสินค้ารายนั้น จึงมีแบรนด์ที่มาร่วมกับเรา สำหรับขายในกาดแห่งนี้เท่านั้น ก็เลยทำเป็นกาดชุมชนที่พยายามจะมีแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนี้ขึ้นมา ก็เลยเป็นที่มาที่ได้ประกาศรับคนท้องถิ่นที่มีความคิดเหมือนกับเรา ที่โรงงานเกรียงไกรผลไม้เนี่ยเรามี คติคำหนึ่ง ว่า “ยะด้วยใจ๋” แปลว่าทำด้วยใจ ซึ่งจะหาคนที่ทำแบรนด์ท้องถิ่นที่ทำด้วยใจมาอยู่ร่วมกัน เราก็เลยรับสมัครและเชิญเข้ามา ทุกคนต้องมาพูดคุยถ้ามีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ก็ยินดีที่จะมาร่วมกัน ก็เลยเกิดเป็นที่มาของกาดแห่งนี้ที่เป็นกาดชุมชน แล้วเราก็รู้สึกว่าพอมาทำแบบนี้แล้วทำให้รู้สึกถึงความเป็นมิตรกัน  มิตรมาหามิตร ก็เลยตั้งชื่อว่ากาด “เกรียงไกร มาหามิตร” เกรียงไกรคือเกรียงไกรผลไม้ พ่อกาดแม่กาดก็คือมิตรของเรา มาหาและช่วยกันทำให้กาดแห่งนี้เป็นกาดชุมชนอย่างที่แท้จริง แล้วคนที่มากาดผมก็เชื่อว่าคนมากาดไม่ได้มาต้องการเพื่อซื้อของเพียงอย่างเดียว แต่บางทีมาเพื่อมานั่งคุยกันมานั่งดื่มกาแฟด้วยกันได้มีเพื่อนคุยกันสัพเพเหระด้วยเรื่องนู้นเรื่องนี้ สมัยก่อนมีคำว่า สภากาแฟ มันก็มีเหตุผลอย่างนั้น ดังนั้น กาดก็เป็นที่รวมของคนที่อยากจะมีมิตรเจอมิตรใหม่ๆ เกิดเป็นมิตรภาพที่ดีกันกันต่อไป

 

คาดหวังว่าจะช่วยเหลือชุมชนได้อย่างไร

เมื่อแนวคิดทุกอย่างเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง มิตรในชุมชนเราก็อยากเป็นมิตรเป็นมิตรแบบที่เขาเรียกว่า ทำอะไรที่แสดงว่าเราเป็นมิตรจริงที่จับต้องได้ ก็เลยตัดสินใจว่า คุยกับทีมคุยกับร้านค้าบางร้านนะ เขาก็ยินดีเข้าร่วมโครงการที่เราจะ Dedicate หรือ บริจาคเงินรายได้ของเรา 1 % ตอนนี้มีสมาชิกเข้าร่วมก็คือ ร้านขนม น้ำแข็งใสที่ชื่อ “มินิม่วน”  มินิม่วนนี่มาจากคำว่ามินิมอลบวกม่วน ที่ภาษาเหนือแปลว่า สนุก ซึ่งรายได้จากทางร้าน 1% ร่วมบริจาค

อีกทั้งร้าน ร้านกาแฟชื่อ “โกเมะกุระ”  โกเมะกุระเป็นร้านกาแฟที่ในหลองข้าว หลองข้าวแบบล้านนา โกเมะกุระแปลว่าสถานที่เก็บข้าวเปลือก เขาก็ยินดีบริจาค 1% และร้านอาหารที่ชื่อ NOW Social NOW นี่มาจาก Nouvelle Oriental Wisdom คือเป็นร้านอาหารที่เอาอาหารตะวันออก เอาอาหารท้องถิ่นมาปรับให้ดูน่าสนใจขึ้น ก็จะร่วมบริจาค 1% ด้วยเช่นกัน

ซึ่งรายได้ 1% นี้ จะให้กลับคืนไปยังโรงเรียน สถานพยาบาล สถานผู้สูงอายุในอำเภอแม่ริม เราอยากสนับสนุนผู้สูงอายุ สนับสนุนกิจกรรมผู้สูงอายุต่างๆ เราจะบริจาคให้ 3 สถานนี้ทุก 3 เดือน และได้ประสานแจ้งทางนายอำเภอและทางนายกเทศบาลตำบลไว้แล้ว ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริง และจับต้องได้จริง ได้เป็นส่วนหนึ่งได้ช่วยเหลือกัน เงินที่ชุมชนมาใช้ที่นี่ เงินที่นักท่องเที่ยวต่างถิ่นมาใช้ในอ.แม่ริมแล้วก็จะย้อนกลับไปที่ชุมชนด้วย

แนวคิดในการออกแบบ ตกแต่ง ให้เข้ากับชุมชนอย่างไรบ้าง

วิธีให้เข้ากับชุมชนก็คือ ไม่ต้องไปแตะของเดิมอะไรที่เป็นของเดิมก็ทิ้งไว้อย่างนั้น ของเดิมของเราคือโกดัง 1,000 ตารางเมตร สูง 14.9 เมตรยอดของหลังคา รอบข้างเป็นช่องลม ช่องลมตัวนี้เป็นช่องลมดินแดงซึ่งหาซื้อไม่ได้แล้วในปัจจุบัน 40 ปี ตอนนี้มันไม่มีใครผลิตแล้ว พื้นข้างล่างของกาดเป็นดิน สมัยก่อนเวลาดองไหจะต้องมีการให้มีความชื้นให้อุณหภูมิที่เหมาะสม ไหจึงต้องวางบนดิน เราก็จะเก็บตรงนั้นไว้เพียงแต่ทำให้สะอาดและเอาหินเกล็ดมาโรยเพื่อให้คนเดินแล้วมันไม่รู้สึกว่ามันเปื้อนดิน แต่มันก็ยังเป็นดิน ใต้ดินเกร็ดเป็นดินความชื้นยังอยู่ เวลาอยู่ในกาดเราจะรู้สึกเย็น นี่คือ Character ของโกดัง การดองผลไม้ หรือดองผัก จะมีวิธีการ  ventilation หรือ การระบายลม จากช่องลมรอบๆ และพื้นต้องเป็นดิน เป็นวิธีการที่ทำกันมาเราจะเก็บอย่างนั้นไว้เลย แล้วเอาคนทั้งหมดที่จะค้าขายเข้าไปในพื้นที่นั้น โดยใช้สถาปนิกในท้องถิ่นเป็นคนเชียงใหม่จบที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เข้าใจท้องถิ่น แนวคิด คือ อะไรที่ใหม่เราเติมเข้าไปและไม่ทิ้งของเดิมเช่น เมื่อได้เดินเข้ามาในกาดก็จะเข้าใจและสัมผัสได้ว่า ผนังที่มีช่องลมนี้อายุ 40 ปีจริง  ส่วนผนังใหม่ก็คือ เติมเข้าไปอย่างเดียวแทรกเข้าไป แม้แต่ไฟที่ห้อยลงมา 40 ปีที่แล้ว ไฟโคมไฟยังเหมือนเดิมเพราะเปลี่ยนแต่หลอด แม้จะมีสนิมก็สนิมเหมือนเดิม แต่สะอาดไม่เลอะ

ในพื้นที่ทั้งหมด มีในส่วนของโซนอะไรบ้าง

ในกาดเรามีร้านค้าอยู่ประมาณ 30 ร้าน เป็นร้านค้าที่เป็นบูธของคนในท้องถิ่น บูธประมาณ 2 เมตร x 1.6 เมตร ประมาณ 23 – 24 ร้านโดยประมาณ ในโกดังมีอาคาร 3 ชั้น มีอยู่ชั้นหนึ่ง ซึ่งสมัยก่อนเป็นผนังปิดทึบสำหรับเก็บวัตถุดิบ แต่ปัจจุบันเจาะผนังมาเป็นช่องเปิดช่องหน้าต่างช่องกระจกมีระเบียงยื่นตกแต่งสวยงามแต่เป็นผนังเดิม

เริ่มจากร้านค้าใหญ่มีอยู่ประมาณ 5 – 6 ร้าน ร้านที่ 1 ก็จะเป็นร้านน้ำแข็งใสขนมไทย ร้านนี่ Concept ก็คือเขารู้สึกว่า “ญี่ปุ่นขายแป้งห่อถั่วถั่วห่อแป้งแล้วขายขนมได้แพง แต่ขนมไทยหลังคดหลังแข็งทำทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้นทำตั้งนานทำไมขายได้ถูก” จึงอยากทำขนมไทยใหม่ให้ทุกคนเข้าใจถึง Handmade  ถึง Handicraft  ถึงความยะด้วยใจ๋ของคนทำ ของคนเชียงใหม่ แล้วปรับแพคเกจใหม่เพื่อให้เป็นของที่ดูแล้วมันน่าสนใจขึ้นให้ได้ราคาขึ้น และน้ำแข็งใส ก็คือของที่อยู่คู่คนไทยมาตลอด

ชั้น 2 เป็น NOW Social  เป็นร้านอาหาร ที่มีเอกลักษณ์เป็นอาหารไทย เอาวัตถุดิบของเกรียงไกรผลไม้หลายตัว ไม่ว่ากระเทียมดอง ท้อดองอะไรต่างๆไป twist ผสมกับวัตถุดิบไทยในท้องถิ่นอื่นๆ ทำให้ออกมาเป็นอาหารจานใหม่ที่น่าสนใจ นั่นคือ Concept ของร้าน

ชั้น 3 เป็น แกลลอรี่แสดงงานศิลปะ จากศิลปินที่อยู่ในเชียงใหม่ แล้วอยู่ในแม่ริม การจัดแสดงงานเป็นภาพวาดเป็น Stocker  เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

ชั้นล่างก็จะเป็นหลองข้าว ของร้านกาแฟ “โกเมะคุระ” เมล็ดกาแฟที่เอามาจากในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ ขายในสไตล์ของล้านนา และผสานญี่ปุ่นในเรื่องของชาเข้าไปด้วย ซึ่งญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมเรื่องชาที่น่าสนใจ เราก็ Blend กันเข้ามา ญี่ปุ่นก็ใช้กินข้าวเหมือนกัน เขาก็เก็บข้าวเปลือกมีโกเมะกุระ หรือ โกดังเก็บข้าวเหมือนหลองข้าวบ้านเรา แต่เขาเรียก “โกเมะกุระ” เขาไม่ได้เรียกหลองข้าวหรือยุ้งฉาง

อีกร้านที่อยู่ข้างล่างที่ชื่อ Social Market ตรงนี้ก็เป็นร้าน ของท้องถิ่นที่มาปรับให้มันมีมูลค่าเพิ่มให้มันน่าสนใจเพิ่มขึ้น มีผักปลอดสารพิษจากปีระกาฟาร์มซึ่งอยู่นาในอ.แม่ริม  มีคนบ้านงามแสงเดือนที่ขายงาน Handmade เป็นงามฝีมือจริงๆ มีพี่จิ๋ม ซึ่งเขามีสมญานามว่าเป็น Martha stewart ของจังหวัดเชียงใหม่ ก็มาร่วมกันมี แบรนด์ภาวนา เป็นร้านเสื้อผ้า มีแบรนด์สาธุ ของคุณแบงก์ มีงานฝีมือจักสานของจายองกบ ภาษาเหนือแปลว่าผู้ชายที่ชื่อกบ แต่ว่าภาษาเหนือเขาเรียกว่าจายองกก เป็นผู้ชายชื่อกก ขายพวกของจักสานของท้องถิ่นแบบ Authentic จริงๆ

อีกทั้งเรามีงานฝีมือเป็นไม้ งานปั้นเซรามิค มีอาหารที่คนตั้งใจทำ มีพายมะพร้าวของแบรนด์นึง ชื่ออธิสา ซึ่งทำด้วยคนสูงอายุ ตั้งใจทำรักที่จะทำพายมะพร้าว อร่อยมาก มีไข่ป่าม ข้าวหนุกงาเป็นของพื้นถิ่น มีไก่ทอดญี่ปุ่นเป็นสูตรของญี่ปุ่นปรับขึ้นมารับประทานกับข้าวเหนียว น้ำพริกหนุ่มของไทยจับคู่กัน

 

มีพิซซ่าของคนในแม่ริม เป็นพิซซ่า Homemade ทำด้วยมือ มีขนมเส้น คือ ขนมจีน น้ำพริก น้ำยา น้ำเงี้ยวอะไรต่างๆเข้ามา มีข้าวซอยเข้ามา มี Kombucha คือ ชาหมักของร้านน้องๆที่อยู่ในอ.แม่ริม ก็ทำเป็นงานเสริมทำด้วยใจรัก มีผลิตภัณฑ์พวกถั่ว ทานเพื่อเพิ่มพลังงาน แบรนด์ชื่อ Health Me Please และเรื่องของตัวเทียนหอมมีหลายอย่างเลยอยู่ในกาดแห่งนี้และนี่ก็คือ รวมสินค้าท้องถิ่นของชุมชนทั้งหมด

พอจะบอกเกณฑ์ หรือ คุณสมบัติของสินค้าชุมชนที่สามารถมาวางขายในร้านของฝาก และ ร้านค้าที่จะเข้ามาขายในกาด ว่ามีคุณสมบัติหรือเกณฑ์การคัดเลือกอย่างไรบ้าง

เรามองคนในแม่ริมเป็นจุดเริ่มต้นก่อน ถ้าอยู่ในอำเภอแม่ริมเราพิจารณาก่อนเลยอันแรก แต่สินค้าต้องมีคุณภาพ แต่ถ้าอยู่ในเชียงใหม่มีคุณภาพเราก็เลือก อันนี้คือหลักใหญ่ คำว่ามีคุณภาพหมายถึง ทำด้วยใจ “ยะด้วยใจ๋” คือกรอบการพิจารณา

นอกจากนี้เรายังส่งเสริมคนที่ทำอยู่ขายได้น้อย โดย ไม่เก็บค่าเช่า หากไหนขายไม่ได้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่นี่คือ Concept แต่ถ้าขายได้เราจะขอ 10 % ซึ่งเราเรียกเป็นเรทที่ต่ำมาก โดยตลาดทั่วไป น่าจะอยู่ที่ 25 – 30 % แต่เรา 10 % เพื่อให้ขายของในราคาที่ไม่สูงมากแล้วสินค้านั้นเข้าไปติดตลาดได้เร็ว ส่วนค่าไฟ ค่าน้ำก็จ่ายกันเป็นวัน ค่าไฟเหมา 20 บาทต่อวัน ค่าน้ำ 10 บาท

ซึ่งเราก็ไม่ได้จำกัดใช่ไหม ว่าคนที่จะมาขายของในกาดจะต้องอยู่ในแม่ริม

อันดับแรกดูจากอ.แม่ริมก่อน ถ้าไม่มีคุณภาพก็ขออนุญาตดูของอำเภออื่น แล้วก็ทุกคนที่เข้ามาอยู่ในกาดก็คือ จะขายของไม่ซ้ำกันเลย จะมีแค่ 1 รายเท่านั้น อย่างเครื่องดื่มตอนนี้ก็ต้องให้ทางร้านน้ำแข็งใส ร้านกาแฟก็ให้ทางร้านโกเมะกุระเขาไป คนอื่นก็ขายกาแฟไม่ได้ แล้วก็ต้องหลบไปขายอย่างอื่น ทุกคนจะได้อยู่ได้ ซื้อพายมะพร้าวมานั่งดื่มกับชาของร้านโกเมะกุระอะไรอย่างนี้คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น

สินค้าและร้านค้าที่โดดเด่น ที่มาแล้วต้องไม่พลาด ซิกเนเจอร์ มีอะไร

เนื่องจากตลาดนี้มันไม่ได้ใหญ่มาก มันมีประมาณ 30 ราย ผมว่าถ้าเดินไม่ได้ซื้อของ ภายใน 15 นาทีก็น่าจะเดินหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็เลยคัดคนมาทุกคนมี Character ประจำตัวที่โดดเด่น มี Character มีซิกเนเจอร์เป็นของตัวเอง แนะนำให้เรียนเชิญเข้ามาเที่ยวในกาด เชื่อว่าถ้ามีโอกาสได้อยู่หน้าร้านแต่ละร้านและ ได้ถามเขาได้คุยกับทางร้าน ผมว่า แต่ละร้านอยากที่จะเล่าถึงความโดดเด่นของร้านและสินค้าให้ฟังอย่างแน่นอน ผมอยากให้เราได้มารู้จักกันได้มาเป็นมิตรกันได้มาเห็นคุณค่าของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเขาตั้งใจทำด้วยยะด้วยใจ๋เนี่ย และเราก็จะได้ส่งเสริมจากรากหญ้าขึ้นไป ถ้าเขาอยู่ได้ก็เชื่อว่าในภาพใหญ่ของประเทศเนี่ยเราอยู่ได้ ไม่ต้องการเงินอุดหนุนจากใคร แค่มาซื้อของที่มีคุณภาพแล้วมาอุดหนุนเขาเท่านั้นเอง

จุดเชคอิน ถ่ายรูป ที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่นี้

คือในกาดเองเนี่ย ผมเชื่อว่ายุคนี้เราเป็นยุคของ Instagrammable ผมว่าจุดถ่ายรูปในนั้นเวลาเราดีไซน์เนี่ย เราใส่เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในนั้นด้วย  ผมเชื่อว่ามีอยู่ประมาณ 200 จุดในนั้น มีมุมแบบที่เรียกว่าเราไม่ได้บอกอะแต่ต้องหาให้เจอ เพราะมุมนี้ถ่ายออกมาแล้วสวย แต่มุมที่เห็นแน่ ๆว่าสวยเนี่ย ในนั้นมีเยอะแยะมากเลย ไม่ว่าจะเป็น หลองข้าวข้างล่างข้างบน ในร้านมินิม่วนเอง เรามีงานศิลปะแทรกอยู่ในทุกแห่ง เรียกว่ามาอาทิตย์นึงแล้วยังไม่จบเลย ลายเส้นมินิมอล แล้วก็ในลายเส้นตรงนั้นมีความหมายซ่อนอยู่ในนั้นด้วย มันไม่ใช่สวยงามมันมีเนื้อหาซ่อนอยู่ในนั้น

ด้านงานศิลปะชั้นบนเป็นภาพ painting มีของแต่ละบูธ มีผนังยาวประมาณสัก 20 เมตร ที่ให้โรงเรียนในอำเภอแม่ริม 4 – 5 แห่งจะมาวาดภาพประกวดกันในหัวข้อ อันซีนแม่ริม เห็นแม่ริมในมุมมองใหม่ๆ เป็นมุมที่เราน่าจะไป Discover และไปเที่ยวกัน เด็กนักเรียนจะมาช่วยวาดตรงนี้ และนี้คือนในโกดังจากเกรียงไกร มาหามิตร

ส่วนที่พลาดไมได้ด้านนอก “ร้านเกรียงไกรเอาท์เล็ต” ร้านขายของฝากของอำเภอแม่ริม ซึ่งเดิมคนก็มาถ่ายกับภูเขาไหเป็นกองไห ก็มีมุมถ่ายรูปอีกเยอะแยะไปหมดเลยกับสินค้า เพราะฉะนั้น มาที่เนี่ยจริงๆ ได้ทั้งวัน ไม่ต้องกลัวร้อนด้วย เพราะในมีพัดลมยักษ์ 7.5 เมตร เย็นสบายอยู่ได้ตลอดทั้งวัน

สถานที่ตั้ง การเดินทางมาอย่างไร และช่องทางการติดต่อช่องทางไหนบ้าง

อยู่ในกลางอำเภอแม่ริม ห่างจากตัวอำเภอไม่เกิน 2 กิโลเมตร ขาเข้ามาเที่ยวเที่ยวสักเกตุก่อนขึ้นไปเที่ยวม่อนแจ่ม โป่งแยง จะมีปั๊มปตท. ตรง3 แยกก่อนที่จะขึ้นไปเที่ยวบนดอย ทุกคนจะแวะเข้าห้องน้ำอะไรต่างๆ  อยากให้มองไปฝั่งตรงข้าม กาดเกรียไกรเราจะอยู่ อยู่เยื้องปั๊มปตท. ขาไปไม่ต้องหาเราก็ได้ อยู่ในปตท.แล้วไปเที่ยวให้สบายใจ พอลงจากดอยมา ลงจากภูเขามา ลงมาปุ๊บเลี้ยวขวาตรง 3 แยกนั้น จะเข้าเมือง พอเสี้ยวขวาปุ๊บเจอซอยแรก อยู่ซอยนั้นเข้ามา 10 เมตร หาไม่ยากเลยอยู่กลางอำเภอแม่ริม อยู่ฝั่งขาเข้าเมือง ก่อนจะกลับเข้าเมืองซื้อของฝากกลับไปมาเที่ยวกันได้เลย แนะนำเพจ กาดเกรียงไกรมาหามิตร https://web.facebook.com/kadkriengkrai ไว้คอยอัพเดตข่าวสาร

สถานการณ์โควิด-19 กาดมีมาตรการ ความปลอดภัยอย่างไรบ้าง

เราใช้มาตรการทั้งหมดตามมาตรการตามมาตรฐานครบทั้งหมด แต่ว่าเราเปลี่ยนแอลกอฮอล์จากเจลเป็นน้ำ ผมรู้สึกว่าน้ำเนี่ยจะทำความสะอาดได้ค่อยข้างมากกว่า แม่ค้าทุกร้านเนี่ย พ่อกาดแม่กาดจะวางแอลกอฮอล์น้ำไว้หน้าร้านทุกร้าน ถ้าเขาขายอาหาร เขาจะถูก Force ให้ใส่หมวกด้วย แล้วก็ถุงมือ ถ้าขายงาน คราฟก็ไม่ต้องใส่หมวก แล้วก็เราจะเป็นกาดที่เราจะไม่รับเงินสดเลย ไม่รับแบงก์ไม่รับเงิน ทุกอย่างเป็นคิวอาร์โค้ดหมด คนถือเงินมาอาจจะต้องขอโทษล่วงหน้า อาจจะต้องใช้ยิงผ่านคิวอาร์โค้ดหักจากบัญชีอย่างเดียวเลย เพื่อไม่ให้มือต้องสัมผัสธนบัตรหรือเศษเหรียญอะไรทั้งสิ้น อันนี้จะเป็นการ preventive ในเรื่องของตั้งแต่กระดุมเม็ดแรกเลยที่มือจะสัมผัสพวกนี้ แล้วก็พนักงานทุกคนในโรงงานเกรียงไกรผลไม้เราฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว 2 เข็ม ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องตรงนั้น แล้วก็ทุกคนที่มาเที่ยวก็ใส่หน้ากากยกเว้นเวลาทานอาหาร ก็กี่ตารางเมตรกี่คนก็ถูกคำนวณ ทุกร้านจะถูกกำหนดอย่างนี้ ว่าตารางเมตรความหนาแน่นไม่เกินตามกำหนด อันนี้คือมาตรการที่เราใช้ นอกเหนือจากนั้นก็เรื่องของการลงทะเบียนในมาตรการปกติที่มีอยู่แล้ว

 

เชิญชวนให้คนที่เข้ามาเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่มาเที่ยวที่ตลาด

เปิดวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ก่อนที่จะเทศกาลยี่เป็งหนึ่งอาทิตย์ อาทิตย์หน้าลอยกระทงกัน จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา 2 ปีแล้ว พ่อกาดแม่กาดทุกคนได้รับผลกระทบกัน แต่วันเนี่ยทุกคนมาอยู่ตรงนี้ด้วยความหวัง แล้วหวังว่าจะเป็นมิตร เรามาอยู่ด้วยกันเราก็จะเป็นมิตรกัน แล้วหวังว่าจะมีมิตรมาหามิตรมาหาพวกเรา การซื้อขายไม่ได้จบที่กาดนี้ ตอนกลับออกไปก็สามารถซื้อผ่านทางออนไลน์ต่างๆ ผมว่าเรามาเที่ยวกันเถอะครับ โควิดก็เหมือนเป็นไข้หวัดอย่างหนึ่ง วันนี้ถ้าฉีดวัคซีนแล้ว ผมว่าเราก็ปลอดภัย และใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน ถ้าเราไม่ได้ไปใช้ชีวิตในความเสี่ยงหรืออะไรที่เปิดปากดื่มสุราหรืออะไรกลางคืนที่มันใกล้ชิดกันแก้วเดียวกัน ผมว่ามันไม่มีโอกาสแล้วนะ มันก็ปลอดภัย แต่ยุคนี้เป็นยุคที่เราต้องกลับมาช่วยเหลือกันแล้ว ด้วยการใช้จ่ายกันเองต่างประเทศก็ยังไม่ได้เข้ามาแบบเต็มรูปแบบ ฝากว่าเรามาใช้จ่ายกัน เราดูแลครับเรื่องความปลอดภัย เราก็มาใช้ชีวิตกันให้มันเหมือนปกติสุขเถอะ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 มาเจอกันนะครับ

 

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น