เตือนภัยเงินด่วน กู้เงินออนไลน์ ระวังถูกหลอก

ศูนย์ปรึกษาปัญหากฎหมาย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชน และผู้นำชุมชน เข้ามาหารือเกี่ยวกับกรณีบุคคลในครอบครัว และชาวบ้านในชุมชน เสียรู้ กลายเป็นเหยื่อของกลุ่มขบวนการปล่อยกู้เงินด่วน และเงินกู้ออนไลน์ ซึ่งได้แนะนำให้รวบรวมหลักฐาน ไปแจ้งความท้องที่ ถ้าได้รับความเสียหาย ถูกขู่เข็ญ บังคับให้เสียดอกโหด อย่างไรก็ตาม นางกุลยา (ขอสงวนนามสกุล ) แม่ค้าวัย 45 ปี ซึ่งค้าขายตามตลาดชุมชน ,กาดนัดในพื้นที่เมืองแม่โจ้ อ.สันทราย เชียงใหม่ กล่าวว่าใช้บริการ เงินกู้ด่วน จากนามบัตร ที่มีการตระเวณแจกตามสถานที่ต่างๆ โดยขอกู้ไปที่สถาบันการเงินตามโครงการช่วยเหลือ แต่เงื่อนไขไม่ผ่านจึงตัดสินใจ กู้เงินนอกระบบ 2 หมื่นบาท มาใช้ลงทุนใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งตามกาดนัดก็มีพ่อค้า แม่ค้า กู้นอกระบบและ เล่นแชร์กัน เป็นจำนวนมาก

“อยากให้สถาบันการเงิน นำเสนอสินเชื่อที่ผู้ค้ารายย่อยเข้าถึงง่ายกว่านี้ เพราะขนาดจ่ายเงินดอก ร้อยละ 20 ได้ ก็น่าจะมีกำลังจ่ายเงินกู้ตามโครงการที่ดำเนินการจากสถาบันการเงินได้ ”


ด้าน สภ.แม่โจ้ ได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยระวัง ถูกหลอกให้กู้เงิน โดยอาศัยช่วงที่ประชาชนมองหาแหล่งเงินกู้ แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้แล้วหลอกลวง ผ่านช่องทางทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก แอปเงินกู้ และโทรศัพท์ โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย อย่าหลงเชื่อกลโกงของมิจฉาชีพ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการเหล่านั้น ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง และโทรติดต่อไปยังผู้ให้บริการที่ถูกอ้างชื่อถึง ก่อนตัดสินใจกู้เงิน ทั้งนี้ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่าปัจจุบันมิจฉาชีพหลอกให้ประชาชนกู้เงินหลากหลายรูปแบบ โดยจะส่งข้อความเชิญชวนหรือประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ หากหลงเชื่อก็จะให้สมัครผ่านแอปเงินกู้ หลังจากนั้นจะเริ่มขอเอกสารส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หน้าสมุดบัญชี แล้วหว่านล้อมหลอกให้เราโอนเงินค่าธรรมเนียม ค่ามัดจำต่าง ๆหรือเงินค้ำประกันให้ก่อน

“ถ้าผู้ให้กู้รายใด แจ้งให้โอนเงินก่อน สันนิษฐานเลยว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพหลอกลวง ห้ามโอนเงินก่อนเด็ดขาด จนกว่าจะตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีตัวตนอยู่จริง “ธปท. อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อแอปพลิเคชัน และข้อมูลผู้ให้บริการ
อีกหนึ่งกลุ่มสินเชื่อ หรือเงินกู้ที่แบงก์ชาติไม่ได้กำกับดูแล คือ เงินกู้นอกระบบ (หนี้ที่ผู้ให้กู้ไม่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน) อีกหนึ่งภัยทางการเงินที่น่ากลัวเช่นกัน เพราะการกู้นอกระบบ มักมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (ตามกฎหมายคือ การเรียกเก็บดอกเบี้ยต้องไม่เกิน ร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน)

และมักใช้วิธีทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เช่น ทวงหนี้ผ่านคนรู้จักทำให้ผู้กู้เกิดความอับอาย ข่มขู่ถึงแก่ชีวิต โดยมิจฉาชีพจะแฝงตัวมาในลักษณะปล่อยเงินกู้ผ่านระบบออนไลน์ เข้ามาขอเป็นเพื่อนผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือ ประกาศในเว็บไซต์ต่างๆ เชิญชวนให้ใช้บริการ อ้างว่ากู้เงินได้เร็ว ไม่ต้องมีหลักประกัน จะเห็นว่าหนี้นอกระบบนั้นทั้งน่ากลัวและอันตราย นอกจากจะโดนเอาเปรียบให้เสียเงิน เสียบ้าน เสียรถ เสียชื่อเสียง เจ็บตัว หมดตัว หรือมีความเสี่ยงถึงชีวิต จึงไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหากได้รับข้อความกู้เงินด่วน ไม่ว่าช่องทางใดก็ตาม อย่าหลงเชื่อลิงก์ที่แนบมาโดยไม่มีแหล่งที่มา และห้ามกดเปิดลิงก์หรือกรอกข้อความใดๆ อย่างเด็ดขาด จนกว่าจะตรวจสอบให้มั่นใจ เพราะอาจเกิดความเสียหายและผลกระทบอีกมากมายที่ตามมาได้ มิจฉาชีพจะอ้างตัวเป็นสถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทให้กู้เงิน หรือเป็นนายหน้าช่วยขอสินเชื่อ และมักจะหลอกประชาชนว่า จะได้รับเงินกู้วงเงินสูง อนุมัติไวขั้นตอนน้อย


ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบ ผู้ประกอบธุรกิจเงินกู้สินเชื่อออนไลน์ ได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งจะมีรายการให้ตรวจสอบทั้งผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น