พลิกดินหมดสภาพ เป็นพื้นที่เกษตรใหม่

โคก หนอง นา โมเดล พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้ง ตามศาสตร์พระราชา ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นางศรีจันทร์ ปิตานี เกษตรกรตัวอย่าง จากหย่อมบ้านแม่จ๋าน้อย บ้านห้วยโป่งกาน หมู่ที่ 6 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการ พื้นที่เรียนรู้ฯชุมชนต้นแบบ CLM ขนาดพื้นที่ 15 ไร่ ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า จากการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการปรับพื้นที่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ ทำคันนาทองคำ และขุดคลองไส้ไก่ในพื้นที่แปลง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพไทย โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 หน่วยทหารพัฒนา ในการดำเนินการขุดปรับพื้นที่ หวังพลิกฟื้นให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนอย่างแท้จริง เนื่องจากเดิมที่บริเวณดังกล่าว เคยเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาหลายปี ประกอบกับเป็นพื้นที่ภูเขา มีการใช้สารเคมีอย่างยาวนานจนดินเสีย และขาดแคลนน้ำ จึงทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่

นางศรีจันทร์ ปิตานี และครอบครัว จึงได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการ หยุดใช้สารเคมีเป็นเวลา 7 ปีมาแล้ว และจากการเข้าร่วมโครงการ เมื่อขุดบ่อแล้วพบว่า บ่อน้ำสามารถกักเก็บน้ำได้ จึงสามารถใช้ที่ดินแปลงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และผู้ที่สนใจ โดยในปัจจุบันได้แบ่งพื้นที่ เพื่อทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชยืนต้น เช่น หน่อหวาน กล้วยน้ำว้า อะโวคาโด้ พืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ แพะ และ วัว

นางศรีจันทร์ ปิตานี เกษตรกรตัวอย่าง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้ กำลังมีการดำเนินการพัฒนาต่อยอด คือ การจัดทำฐานการเรียนรู้ระดับตำบล 9 ฐานเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ตามโครงการฯ ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานเรียนรู้เรื่องกสิกรรมธรรมชาติ ฐานเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานเรียนรู้คนติดดิน ฐานเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานเรียนรู้คนมีไฟ ฐานเรียนรู้หัวคันนาทองคำ รวมถึงแผนการขับเคลื่อนเพื่อต่อยอดความสำเร็จ ขยายผลให้เป็นคลังอาหารเพื่อชุมชน สัมมาชีพชุมชน การแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน การสร้างสัมมาชีพชุมชนสำหรับคนทุกช่วงวัย เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนไม่ให้ว่างงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น