กฟภ. มีแผนขยายเขตไฟฟ้า ในหมู่บ้านความมั่นคง

กฟภ.เปิดรับฟังความคิดเห็นขยายเขตไฟฟ้าหมู่บ้านความมั่นคง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีแผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนา เพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า และพื้นที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน รวมจำนวน 29 หมู่บ้าน 11 เส้นทาง

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รอง ผวจ.แม่ฮ่อง สอน เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 การศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แผนงานขยายไฟฟ้าให้หมู่บ้าน ในโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ณ. ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแม่ฮ่องสอน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความเห็นกว่า 150 คน


ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้หมู่บ้าน ในโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า และพื้นที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน รวมจำนวน 29 หมู่บ้าน 11 เส้นทาง ประกอบด้วย

1. เส้นทางแยกทางหลวง 1095 – บ้านน้ำปลามุง

2. เส้นทาง แยกห้วยหก – บ้านป่าซาง

3.เส้นทางโรงจักร กฟภ.เขื่อนแม่ปาย-บ้านดอยผักกูด

4. เส้นทางบ้านไม้ซางหนาม – บ้านอาโจ้

5. บ้านโท้งหลวง – บ้านปางคอง

6. เส้นทางบ้านนาปู่ป้อม – บ้านป่าโหล

7.เส้นทางบ้านปางคาม – บ้านน้ำจาง

8. เส้นทางบ้านผาเผือก – บ้านผาแดง

9. เส้นทางบ้านถ้ำลอด – บ้านแสนคำลือ

10. เส้นทางบ้านเมืองแพม – บ้านแอลา

11. เส้นทางบ้านห้วยเสือเฒ่า – บ้านแม่ส่วยอู

รวมระยะทาง 160 กม. ผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1 เอ ระยะทาง 78 กม. และผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ระยะทาง 45 กม. โดยการปักเสาพาดสายไฟฟ้าระบบจำหน่าย 22 กิโลโวลต์ ไปตามริมถนนที่มีอยู่เดิม ใช้เสาคอนกรีตอัดแรงความยาว 8 เมตร 12 เมตร และ 14 เมตรรวม 2,426 ต้น หลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ ใช้วิธีการลิดรอนกิ่ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างสูงสุดประมาณ 18 เดือน

โดยการดำเนินโครงการ ฯ เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก่อนที่จะขออนุมัติโครงการและขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จากคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ รวมทั้งจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงได้มีการเปิดเวทีนำเสนอรายละเอียดผลการศึกษา พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษาและการจัดทำรายงาน เพื่อนำเสนออย่างครบถ้วน โดยการเปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งมีการสรุปผลการศึกษทั้งหมดของโครงการ ฯ

นอกจากนี้ จากการสำรวจและศึกษาด้านชุมชน พบว่าประชาชนในพื้นที่เกิน 100 % มีความต้องการให้มีการขยายเขตไฟฟ้า เข้าไปในชุมชนของตนเอง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงการสื่อสาร ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การสาธารณสุข และการขนส่งสินค้าทางการเกษตรของชุมชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น