(มีคลิป) อ.เชียงแสน สร้างโคมลอยยักษ์สูงเท่าตึก 4 ชั้น เพื่อปล่อยถวายเป็นพุทธบูชา นักท่องเที่ยวแห่ชมคึกคัก

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 พ.ย. 64 ที่ลานหน้าวัดพระธาตุจอมกิตติ ม.6 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พระครูวิกรมสมาธิคุณ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมกิตติ ได้ทำพิธีเจริญพุทธมนต์ให้กับผู้มาร่วมในการปล่อยโคมลอยบูชาพระธาตุจอมกิตติ โดยมี นายเกรียงศักดิ์ วันไชยธนวงศ์ รองนายก อบจ.เชียง ราย ผศ.ดร.อรวรรณ บุญพัฒน์ คณบดีสำนักวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นายวิสูตรบัวชุม ผอ.ททท.เชียงราย นายสุวิน เครื่องสีมา ส.อบจ.เขต อ.เชียงแสน นายพลภพ มานะมนตรีกุล นายก ทต.เวียง อ.เชียงแสน และนางเกศสุดา สังขกร นายก ทต.เวียงเชียงแสน ได้ร่วมปล่อยโคมลอยบูชาพระธาตุ ของหมู่บ้านจอมกิตติ และปล่อยโคมเพื่อส่งเคราะห์ในเทศกาลลอยกระทง ตั้งแต่เช้ามีฝนตกลงมาเล็กน้อย แต่ยังมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเฝ้าชมการปล่อยโคมยักษ์อย่างคึกคัก

นายภาณุวัฒน์ ศรีสุข อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านจอมกิตติ ซึ่งเป็นผู้นำในการจัดทำโคมควัน ได้เปิดเผยว่า โคมลอยมักนำมาปล่อยกันในเทศกาลงานลอยกระทง ทางภาคเหนือเรียกว่าประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีลอยกระทงของชาวล้านนา ที่หมู่บ้านจอมกิตติ อ.เชียงแสน เป็นหมู่บ้านเดียวที่จัดให้มีการแข่งขันประกวดโคมลอยทุกปี แต่ปีนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด จึงยกเลิกการแข่งขันโคมลอย มีจัดโคมลอยบูชาพระธาตุจอมกิตติ และปล่อยโคมยักษ์ที่มีความสูงเท่าตึก 4 ชั้น เพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว และที่ยังนิยมทำโคมลอยและเล่นกันมากในประเพณีเดือนยี่หรือวันเพ็ญ เดือน 12 และจะปล่อยในเวลากลางวัน ถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ด้วย ลักษณะของโคมลอยที่จะปล่อยขึ้นไปไม่มีรูปแบบที่แน่นอน แต่มักจะเลียนแบบธรรมชาติที่มองเห็น เช่น รูปทรงกระบอก ทรงกลม ทรงเหลี่ยมและอีกหลายแบบ

นายภาณุวัฒน์ เปิดเผยต่อว่า การจัดทำโคมลอยหรือโคมควันเป็นประเพณีของชาวล้านนา ซึ่งชาวบ้านจอมกิตติปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนเป็นงานประจำปี เพื่อการบูชาพระธาตุจอมกิตติ อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของ จ.เชียงราย เนื่องจากชาวไทยภาคเหนือหรือคนล้านนา เชื่อว่าการปล่อยโคมลอยจะได้อานิสงส์มาก โดยเฉพาะเมื่อได้เขียนชื่อญาติที่ล่วงลับไปแล้วใส่ไว้ในกระเช้าของโคมที่มีอาหารการกิน แล้วนำไปลอยสู่ฟากฟ้าก็จะทำให้บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งสถิตย์อยู่ ณ จุฬามณีธาตุ ได้รับด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น