(มีคลิป) ชาวบ้านใน จ.ลำปาง ร่วมสืบสานประเพณีล่องสะเปา ปีนี้งดจัดขบวนแห่ทำกิจกรรมเรียบง่าย

ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง ร่วมสืบฮีตต๋ามฮอย “ประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน” รวมกลุ่มทำกิจกรรมเรียบง่าย ตามแบบวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยปีนี้งดจัดขบวนแห่และกิจกรรมการประกวด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองลำปาง ชุมชนคุณธรรมฯ วัดปงสนุก และชุมชนคุณธรรมฯ ท่ามะโอ จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน ในห้วงเทศกาลลอยกระทง นำปราชญ์ชาวบ้านจาก 2 ชุมชนพื้นที่ ร่วมจัดซุ้มความรู้วิถีวัฒนธรรมพื้นบ้าน สอนเทคนิคการทำผางประทีป โคมสาย และสะเปาลอยน้ำ ให้แก่ประชาชนนักท่องเที่ยวผู้ที่สนใจ ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมขึ้น ณ ที่บริเวณพื้นที่ลานอเนกประสงค์ ถนนสายวัฒนธรรมหน้าวัดปงสนุกเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง

โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อต้องการจะเผยแพร่องค์ความรู้ และอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านล้านนา ที่ถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของจังหวัดลำปาง ให้คงอยู่คู่กับนครลำปางตลอดไป ซึ่งการจัดกิจกรรมมีผู้ให้ความสนใจทั้งเด็กเยาวชน นักเรียน นักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปหลากหลายช่วงอายุ ที่ได้มาร่วมกันลงทะเบียนรับอุปกรณ์นำไปฝึกหัดทำ ทั้งผางประทีป โคมสาย และสะเปาลอยน้ำ โดย 3 สิ่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดลำปาง


โดย “ผางประทีป” เป็นสิ่งประดิษฐ์คล้ายถ้วยเล็กๆ ที่ทำมาจากภาชนะดินเผา ใช้สำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และไส้ตีนกาของประทีปที่ทำมาจากเส้นด้าย ส่วน “โคมสาย” เป็นสิ่งประดิษฐ์ทรงกระบอกทำมาจากกระดาษสี มีฐานทรงกลมทำจากกระดาษแข็ง และในช่วงเทศกาลประเพณีล่องสะเปา หรือลอยกระทง ชาวบ้านมักนิยมนำของ 2 สิ่งนี้มาใช้ร่วมกัน ทำการจุดไฟผางประทีปแล้วนำไปใส่ไว้ในโคมสายป้องกันไม่ให้ไฟถูกลมพัดดับ แล้วนำไปแขวนไว้ตามที่ต่างๆ บางแห่งมีการจัดเป็นขบวนแห่นำโคมสายไปถวายวัด ซึ่งการจุดไฟนี้เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธคุณ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อว่าจะช่วยปกปักรักษาขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้ และสำหรับ “สะเปาลอยน้ำ” จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะเป็นรูปเรือ ทำขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กาบกล้วย กาบมะพร้าว และตอกไม้ไผ่ ซึ่งจะมีการนำวัสดุมาตกแต่งประดับประดาให้ดูสวยงาม เช่น การใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายต่างๆ นำไปติดด้านข้างรอบลำเรือสะเปา โดย “เรือสะเปา” ที่ประดิษฐ์ได้ ประชาชนก็จะได้นำไปลอยลงในแม่น้ำวัง


ซึ่งในการจัดซุ้มถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมครั้งนี้ ทางชุมชนยังได้มีการจัดทำสะเปาหลวงไว้อีก 1 ลำ เพื่อสำหรับใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์ลอยสะเปาหลวงในคืนวันลอยกระทง โดยค่ำคืนที่ผ่านมา (19 พ.ย. 64) นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ก็ได้ร่วมกันนำผู้บริหาร หัวส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทุกภาคส่วน เข้าร่วมประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ลอยสะเปาหลวงพร้อมกัน ที่บริเวณท่าน้ำข้าหลวง ด้านหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดยผู้ร่วมพิธีได้มีการนำข้าวตอกดอกไม้พร้อมผางประทีป มาช่วยกันวางจัดตกแต่งให้กับเรือสะเปาใหญ่ และตัดเล็บตัดผมใส่ลงไปพร้อมกันด้วย ก่อนที่จะเข้าล้อมวงร่วมประกอบพิธีทางศาสนา นำสะเปาหลวงลอยลงสู่แม่น้ำวัง

พร้อมกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และผู้ร่วมพิธีคนอื่นๆ ต่างก็ได้ถือดอกไม้ธูปเทียนรวมถึงสะเปาเล็กที่ได้จัดเตรียมมาเฉพาะ ทำการตั้งอธิษฐานจิตอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ก่อนนำเรือสะเปาเล็กปล่อยลงสู่แม่น้ำวังอีกครั้ง ซึ่งการประกอบพิธีดังกล่าว เป็นไปตามคติความเชื่อของชาวไทยล้านนาที่ว่า เพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่น้ำคงคาผู้คอยดูแลรักษาแม่น้ำ รวมถึงยังเพื่อเป็นการลอยเคราะห์ หรือปล่อยเคราะห์ สลัดเสนียดจัญไรในตัวให้ไหลลง ล่องไปตามแม่น้ำ และเพื่อเป็นการลอยส่งอุทิศส่วนกุศล ไปให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ตลอดจนเพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อธิษฐานจิตขอพรสิ่งที่ปรารถนาต่อเทพาอารักษ์ เพื่อความสุขสมหวังในสิ่งที่ต้องการ


ทั้งนี้สำหรับจังหวัดลำปาง ในเขตพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยได้มีการตรวจพบจุดแพร่กระจายเชื้อเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ กระจายอยู่ตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ หลายแห่ง จึงทำให้ในปีนี้ทางจังหวัดจำเป็นต้องยกเลิกงดกิจกรรมในส่วนของขบวนแห่และการประกวด ทั้งการประกวดธิดาสะเปาแก้วสะเปาคำ และการจัดขบวนแห่รถสะเปาใหญ่ รวมถึงขบวนสะเปาใหญ่ลอยน้ำ ที่เป็นกิจกรรมประเพณีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย โดยให้คงเหลือแต่กิจกรรมการอนุรักษ์และสืบสานประเพณี ตามแบบวัฒนธรรมพื้นบ้านเท่านั้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น