ชาวบ้านลำปาง เดินทางถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรที่กักตัว หลังพบคลัสเตอร์ในกลุ่มสามเณร

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ที่บริเวณประตูทางเข้าวัดบ้านต้า หมู่ 10 ต.ชมพู อ.เมืองลำปาง ทางญาติโยม ได้นำอาหาร คาวหวาน น้ำดื่ม ที่ชาวบ้านรวบรวมกันและส่งตัวแทนมา ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ โดยผ่านทางช่องประตู เพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิด เนื่องจากวัดแห่งนี้ได้ปิดวัดห้ามเข้าออกอย่างเด็ดขาดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น หลังจากที่ สามเณรในวัด อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นสามเณรวัดอื่นซึ่งติดเชื้อและรักษาตัวในขณะนี้


ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ทยอยนำอาหารและน้ำดื่มมาถวายตามปกติ แต่ต้องอยู่นอกรั้ววัดเท่านั้น ซึ่งไม่แตกต่างจากวัดชมภูหลวง และวัดลำปางกลางตะวันออก ต.ชมพู อ.เมืองลำปาง ที่ต้องปิดวัดตามมาตรการควบคุมโรค 14 วัน เช่นกัน ชาวบ้านในพื้นที่จึงนำอาหารไปห้อยไว้หน้าประตูวัดแทน ทำให้บรรยากาศทั่วไปตามวัดต่างๆเงียบเหงา


ขณะที่ สถานการณ์โรคโควิด- 19 จังหวัดลำปาง ตามรายงานวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 มีการพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มอีก 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรงงานก่อสร้างต่างด้าว หมู่ 9 ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 8 ราย โดยรายแรกเป็นเด็กชายสัญชาติพม่า อายุ 1 ปี 2 เดือน มีอาการป่วยจึงได้พากันไปตรวจทั้งครอบครัว และผู้สัมผัสใกล้ชิดจึงพบติดเชื้อ


กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มพนักงานบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 11 ราย เกิดจาก นักศึกษาหญิง อายุ 21 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมสังสรรค์กับเพื่อนรุ่นพี่ที่บริษัทเมืองไทยแคปปิตอล จังหวัดลำปาง จากนั้นได้มีอาการป่วยจึงตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ ATK พบผลบวก และได้เข้าตรวจยืนยันที่โรงพยาบาลอีกครั้งพบติดเชื้อ


และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มครอบครัวนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง จังหวัดลำปาง พบผู้ติดเชื้อรวม 5 ราย โดยชายอายุ 38 ปี มีประวัติเดินทางไป จ.ภูเก็ต พบติดเชื้อจึงได้นำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไปตรวจ และพบเชื้อ

สาเหตุการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง สูงและการเกิดการแพร่ระบาดจากการรวมกลุ่มสังสรรค์ และการสัมผัสใกล้ชิดกันภายในครอบครัว โดยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น