ถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ.เชียงใหม่ ประเมิน 26 พ.ย.นี้ คาดทั่วไทย 3 พันแห่งสมัครใจ

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) แจ้งว่าคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีมติเห็นชอบการลงพื้นที่ตรวจประเมินความพร้อม การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต. ) ของ อบจ. ที่ขอรับการประเมิน ซึ่งเชียงใหม่ คณะของ รศ.ภูดิท เตชาติรัตน์ ประธานคณะทำงานฯ กำหนดตรวจ 26 พ.ย.นี้ในช่วงเช้าก่อนไป จ.ลำพูนช่วงบ่าย

สำหรับ รพ.สต.ทั่วไทย มี 9,787 แห่ง ช่วงพ.ศ. 2551-2561 ข้อมูลที่ทางคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้รับพบว่า รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. และเทศบาล มีประมาณ 50 แห่งเท่านั้น ด้านนายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอน ด้านสาธารณสุขให้แก่ อปท.ระบุว่า การขับเคลื่อนถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ.นั้น แผนการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ในแผนที่ 1 ระบุชัดเจนว่า ภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. นั้น สธ.ต้องถ่ายโอนให้ท้องถิ่น

ดังนั้นการจัดทีมลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูว่า เกิดปัญหาหรืออุปสรรคอะไร ทำไมถึงมีการถ่ายโอนน้อย โดยขั้นตอนที่กำหนดไว้ คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ มีหน้าที่ประเมิน อบจ. ว่าแต่ละแห่งจะมีศักยภาพที่จะสามารถรับถ่ายโอน รพ.สต. ได้กี่แห่ง ซึ่งการถ่ายโอนรุ่นแรก กำหนดให้เสร็จสมบูรณ์ 1 ต.ค. 2565 “การตรวจประเมินต้องให้เสร็จสิ้นภายใน 30 พ.ย.นี้ โดยมี อบจ. 50 อบจ. ส่งคำขอรับถ่ายโอน คาดว่าจะมี รพ.สต. ที่พร้อมถ่ายโอนไป อบจ. ในรอบแรก 1 ต.ค. 2565 ประมาณ 3,200 แห่ง”

อย่างไรก็ตาม หลักการถ่ายโอนครั้งนี้ กำหนดว่าภารกิจของบุคลากรต้องสมัครใจ และ อปท. หรือ อบจ.ที่รับถ่ายโอนต้องมีศักยภาพพร้อม เพราะงบด้านสาธารณสุข เป็นงบที่ทราบกันดีว่า อปท.ต้องใช้จ่ายด้านใดบ้าง ทั้งงบประจำ งบวัสดุ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เป็นการปฏิบัติงานแบบปฐมภูมิ ไม่ถึงขั้นต้องมีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะประจำ แต่จะเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างเสริมสุขภาพแข็งแรงของประชาชนในพื้นที่ตำบลนั้น โดยช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พิสูจน์ผลการปฏิบัติงานเด่นชัดว่า รพ.สต.มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากคุ้นเคยกับชาวบ้านและใกล้ชิดชุมชน

ด้านบุคลากรประจำ รพ.สต. ในพื้นที่สันทราย, แม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าเท่าที่มีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเครือขาาย รพ.สต.แต่ละอำเภอ มีทั้งเห็นด้วย และไม่พร้อมที่จะสมัครใจไป “ทั้งนี้ชื่นชมหลักการกรอบแนวทางที่กำหนดไว้ว่าตำแหน่งที่รับโอน ต้องมาในตำแหน่งและอัตราเดิม โดยเทียบตำแหน่ง เช่น นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข และพยาบาลวิชาชีพ ที่เป็น ผอ.รพ.สต.ให้โอนมาในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข และพยาบาลวิชาชีพระดับเดิม ในฐานะ ผอ.รพ.สต. เช่นเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านผลตอบแทน ยกตัวอย่าง บัญชีเงินเดือน ผอ.รพ.สต. ล่าสุด บางแห่งรับ 4-5 หมื่นบาท บางพื้นที่ 2 หมื่นกว่า แต่ลูกน้องในกลุ่มงานรับ 3-4 หมื่นบาท ตามตำแหน่งก็มีอัตรากำลัง ถ้าดูแลชาวบ้านไม่เกิน 3 พันคน ก็จะมีบุคลากร 7 อัตรา มากกว่า 8 พันคนขึ้นไป มี 14 อัตรา การที่ อปท. จะรับไปดูแล ต้องคำนึงถึงงบที่ต้องใช้จ่ายการจัดตั้งกองสาธารณสุข แค่งบประจำเป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือน ผลตอบ แทนก็ไม่น้อย ไม่นับรวมงบบริการงบลงทุนด้านอื่น ๆ จะคาดหวังถ่ายโอนภารกิจมาแล้วเสนอแผนของบก่อสร้างศูนย์พยาบาลในพื้นที่ดูแล คงต้องมองหลาย ๆ ปัจจัยประกอบ

เพราะระบบ สปสช. ที่กำกับดูแล รพ.ทั่วไป นั้น ผู้ที่ใช้บริการ รพ.สต. จะทราบดีว่าบริการแต่ละแห่งเป็นไปในรูปแบบใดบ้าง “ผู้บริหารท้องถิ่นมาตามวาระ แต่งานบริการพื้นฐานงานของ รพ.สต.จะต้องดำเนินต่อไป ถ้าวาดแผนงานถึงขั้น มีห้องบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขเต็มอัตรา อบจ.บางแห่งเดินหน้าลงทุนจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์มาเพียบพร้อม ในขณะที่จุดประสงค์ เป้าหมายที่ถ่ายโอนภารกิจให้ คงไม่มีชาวบ้านยินดีเต็มใจไปใช้บริการห้องผ่าตัด หรือบริการ รพ.สต.ที่ทันสมัยเท่าที่จัดหางบมาได้แน่นอน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น