สาระน่ารู้ก่อนเข้าคูหา กาบัตรเลือกตั้ง “อบจ. – อบต. – เทศบาล ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร” เชียงใหม่นิวส์มีคำตอบให้แล้ว!

สาระน่ารู้ก่อนไปเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกตั้งเป็นการใช้สิทธิของประชาชนคนไทย ที่มีต่อการบริหารประเทศ ก่อนที่เราจะไปเลือกตั้ง เราควรศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมกันก่อนดีกว่า

ส่วนแรกที่พึงทราบคือราชการส่วนท้องถิ่น หมายถึง รูปแบบการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2553 ตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง โดยมี 4 ประเภท ได้แก่ อบต. เทศบาล อบจ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)รูปแบบพิเศษ เช่น กทม.

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 โดยยกฐานะจากสภาตำบล ที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสน 5 หมื่นบาท

เทศบาล โดยทั่วไปหมายถึงท้องถิ่นที่มีความเป็นเมือง หรือมีศูนย์กลางของความเป็นเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน เทศบาล โดยองค์กรของเทศบาล ต้องมีสภาเทศบาล และมีคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรี แล้วแต่กรณี ซึ่งเทศบาลในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร 

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีจังหวัดละหนึ่งแห่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด จัดตั้งเพื่อบริการสาธารณประโยชน์ ในเขตจังหวัด ตลอดทั้งช่วยเหลือพัฒนางานของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน

 ความแตกต่าง ด้านโครงสร้างการบริหาร และผู้กำกับดูแล  โดย อบจ. มีโครงสร้างการบริหาร คือ ส.อบจ. และนายก อบจ.  โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแล เทศบาล มีโครงสร้างการบริหาร คือ สภาเทศบาล (สท.)  และนายกเทศมนตรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแล โดยแบ่งออกเป็นเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ส่วน อบต. มีโครงสร้างการบริหาร คือ ส.อบต. และนายก อบต.  โดยมีนายอำเภอเป็นผู้กำกับดูแล

ความแตกต่าง ด้านจำนวนประชากร และรายได้   อบต. ต้องมีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 2,000 คน และมีเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมา ติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท เทศบาล จะต้องมีจำนวนประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป  ซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาล โดยเทศบาลแต่ละแบบ จะต้องมีรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วน อบจ.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการสาธารณประโยชน์ในเขตจังหวัด ตลอดทั้งช่วยเหลือพัฒนางานของเทศบาลและอบต. 

จากที่กล่าวมาเราจะเห็นถึงความแตกต่างของแต่ละหน่วยงาน แต่ทั้ง 3 หน่วยงานนั้น ทำหน้าที่ร่วมกัน อบจ.มีความสำคัญในการทำหน้าอยู่ตรงกลางระหว่างส่วนกลางและหน่วยการปกครองพื้นฐาน ฉะนั้น อบจ.จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่สนับสนุนหน่วยการปกครองพื้นฐาน ที่มีขนาดเล็กกว่า เป็นการดูแลจากส่วนเล็กตั้งแต่ อบต. เทศบาล และอบจ. แบ่งสันปันส่วนหน้าที่ในการดูแล ภายใต้การบริหารของราชการส่วนท้องถิ่น

อำนาจหน้าที่การบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

โดยสรุปแล้ว สามารกล่าวได้ว่า อบต.มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และการจัดการระบบสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง โดยมี นายก อบต. เป็นคนควบคุมและมีสมาชิกสภา อบต. เป็นกลุ่มคนดำเนินงาน ตามรูปภาพที่แนบมา

ข้อมูลผู้สมัครเลือกตั้ง ในจังหวัดเชียงใหม่ นายนพดล สุยะ ผอ.กกต. เชียงใหม่​ เปิดเผยว่า ในจังหวัด​เชียงใหม่​มีทั้งหมด 89 อบต. จาก 23 อำเภอ มี 2 อำเภอที่ไม่มี อบต.คือ สารภีและสันทราย เนื่องจากว่าได้ยกระดับเป็นเทศ บาล​ตำบลทั้งหมดแล้ว และในครั้งนี้ การ​รับสมัคร​เลือกตั้งของ อบต. จะมีความแตกต่าง​จากทุกครั้ง เนื่องจากว่าในแต่ละอบต.จะลดสมาชิกสภา​ลง จากเดิมที่มีหมู่บ้านละ 2 คน เหลือเพียงหมู่บ้าน​ละ 1 คน แต่ต้องมีสมาชิกสภา​ไม่น้อยกว่า 6 คน ในกรณีที่​ตำบลไหนมีหมู่บ้านไม่ถึง 6 หมู่บ้าน จะต้องมีการเพิ่มในหมู่บ้านที่มีประชากร​มากที่สุดเป็น 2 คน เพื่อให้สมาชิกสภาครบตามกฎหมาย​ อาจทำให้การเลือกตั้ง​ครั้งนี้​ มีความดุเดือด​มากขึ้น

 

ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีผลอย่างไร 6 สิทธิที่จะถูกจำกัด หากไม่ไปเลือกตั้ง สมาชิกสภา อบต. และ นายก อบต.

  1. สมัคร ส.ส. หรือ ส.ว.
  2. สมัครเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา
  5. ดำรงตำแหน่งในการบริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น คณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งในสภาท้องถิ่น เลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา จะถูกจำกัดสิทธิในครั้งถัดไป ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

สำหรับข้อควรรู้ในการเตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้งวันที่ 28 พ.ย.64 นี้  รวมทั้งรายชื่อผู้ลงสมัครว่ามีใครบ้าง เชียงใหม่นิวส์รวมมาให้แล้วทุกเรื่องควรต้องรู้ ก่อนเข้าคูหา 28 พ.ย.นี้  เช็กได้เลยที่นี่ ?

https://www.chiangmainews.co.th/page/page/archives/1852326/

ร่วมแสดงความคิดเห็น