(มีคลิป) กระทรวง อว. ลงพื้นที่ จ.ลำปาง ตรวจความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก “อว.แก้จน”

รมว.อว.เยี่ยมชมราชภัฏ ติดตามผลความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ “แก้จน” ตามแผนพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่ ด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานราก ของ ม.ราชภัฏลำปาง
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ตัวแทนคณะผู้บริหาร นักวิชาการ หัวหน้าฝ่ายงาน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และตัวแทนคณะทำงานหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนยุทธศาสตร์ “อว.แก้จน” โครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยมีนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ ดร.โอฬาร อ่องฬะ พี่เลี้ยงนักวิจัยในโครงการ “อว.แก้จน” ร่วมนำทีมให้การต้อนรับคณะฯ พร้อมกับร่วมนำเสนอบรรยายสรุปผลการดำเนินงานภาพรวมที่เกี่ยวกับโครงการในด้านต่างๆ ณ ห้องประชุมโอฬารโรจน์ อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

โดยการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ “อว.แก้จน” หรือ โครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่ดังกล่าว ทางจังหวัดลำปางได้ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในเขตพื้นที่ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อจะส่งต่อความช่วยเหลือไปยังประชาชนกลุ่มเปราะบางคนยากจนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้ร่วมกันทำงานสร้าง “โมเดลแก้จน” จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางและคนจนกลุ่มเป้าหมายได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยมิติศักยภาพด้านฐานทุนที่จะก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมทั้งระบบ โดยปัจจุบันได้ส่งต่อความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินโครงการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ขจัดความยากจน และพัฒนากลุ่มคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้ว ในเขตพื้นที่นำร่อง 49 ตำบล ครอบคลุม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง ห้างฉัตร งาว เถิน และเมืองปาน ซึ่งได้มีการดำเนินงานโครงการในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา อาทิเช่น โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น, โครงการสนับสนุนสื่อวิดิทัศน์ประกอบการเรียนการสอนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก, การฝึกอบรมให้ความรู้สอนเทคนิควิธีเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนและส่งเสริมการขายออนไลน์ ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่าอาชีพหลัก เป็นต้น

และเพื่อให้ผลงานได้เป็นที่ประจักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้ร่วมกับชุมชนจากพื้นที่ตำบลต่างๆ จัดส่งตัวแทนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของชุมชน มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการเชิงประจักษ์ให้ทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และคณะ ได้รับชมเป็นตัวอย่าง โดยผลงานที่นำมาเสนอมีผลงานผ่านการวิจัย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ “ยกระดับผลิตภัณฑ์ไข่เค็มพอกดินภูเขาไฟ สู่ศักยภาพที่แข่งขันได้ในตลาดใหม่”, โครงการการวิจัยกระบวนการสืบทอดและดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ด้านภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้านเชื่อมโยงเรื่องเล่า เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชุมชนบ้านแม่แจ๋ม บ้านจำปุย และบ้านโป่งน้ำร้อน และโครงการนวัตกรรมลดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันทอดโดยใช้ซังข้าวโพดเป็นวัสดุดูดซับ ซึ่งปัจจุบันได้ใช้อยู่ในโรงงานผลิตข้าวแต๋นหลายแห่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น