จังหวัดลำพูนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรแปรรูป

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น.นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดเสวนาทางวิชาการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และแถลงข่าวกิจกรรมการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรแปรรูป ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่เมืองเกษตรสีเขียว ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน กล่าวรายงาน ณ ห้องแกรนด์จามจุรี 1 เดอะแกรนด์จามจุรี รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน


นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 4,500 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 4.85 ของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดในภาคเหนือ สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ลําไย มะม่วง หอมแดง กระเทียม นอกจากนี้จังหวัดลําพูน ยังเป็นจังหวัดที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ โดยเศรษฐกิจของจังหวัดจะขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมเป็นสําคัญ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการผลิตอุตสาหกรรม คิดเป็น ร้อยละ 51 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด


ปัจจุบันตามแผนพัฒนา 5 ปี จังหวัดลำพูน ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์เป็น “เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนความพอเพียง” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองแบบองค์รวม สร้างความสมดุล ในมิติด้านเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนวิถีพอเพียงและยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานตามแผนงานโครงการที่สอดคล้อง  และสนับสนุนยุทธศาสตร์ของจังหวัด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของจังหวัดลำพูนมีศักยภาพสามารแข่งขันได้ในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ  และเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่เมืองเกษตรสีเขียวตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่ได้ตั้งไว้


นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน กล่าวว่ากิจกรรมการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรแปรรูป อยู่ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่เมืองเกษตรสีเขียว ถือเป็นกลไกสำคัญตามพันธกิจของจังหวัดในประเด็น LAMPHUN FOOD VALLEY เป็นการต่อยอดและพัฒนาเกษตรกรพื้นถิ่น ส่งเสริมระบบเกษตรอัจฉริยะ ให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืน สร้างมูลค่าสูง ตลอดห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์


โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมการนำองค์ความรู้การจัดการธุรกิจเกษตรมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ทางธุรกิจ  เพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงภายใต้สภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านการบริหารจัดการธุรกิจและการปรับใช้นวัตกรรมในการยกระดับสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ


การดำเนินการกิจกรรมแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่การฝึกอบรมและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการการพัฒนา Business Model และแผนธุรกิจ การศึกษาดูงานสถานประกอบการที่มีการปรับใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ การประเมินและคัดเลือก Business model และแผนธุรกิจฉบับย่อเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ และการจัดกิจกรรมงานเสวนาวิชาการการจัดนิทรรศการและการประกาศผลการคัดเลือกแผนธุรกิจที่มีศักยภาพ ผลการดำเนินงานมีผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวนทั้งสิ้น 40 ราย

โดยมีสัดส่วน ของประเภทผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมดังต่อไปนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป 44.8 เปอร์เซ็นต์ ผลิตภัณฑ์ต้นไม้และสมุนไพร24.1 เปอร์เซ็นต์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม 17.2 เปอร์เซ็นต์  ผลิตภัณฑ์สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร 10.3 เปอร์เซ็นต์  และผลิตภัณฑ์ผ้าทอ 3.4% เกิดเป็นแผนธุรกิจฉบับย่อพร้อมโมเดลทางธุรกิจ จำนวนทั้งสิ้น 29 ราย และดำเนินการคัดเลือกเพื่อจัดทำแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มะม่วงตำบลวังผาง  อำเภอเวียงหนองล่อง จ.ลำพูน 2.วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านป่าป๋วย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 3.สุขใจฟาร์ม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ทั้งนี้ ได้มีการลงพื้นที่โดยคณะที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการตลาดการจัดทำแผนธุรกิจและตัวแทนจากภาคการเงิน รวมถึงตัวแทนจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้านเกษตรแปรรูปประสบความสำเร็จ เพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึกถึงแนวทางและกระบวนการปรับใช้นวัตกรรม ทั้งในกระบวนการผลิตและกระบวนการทางด้านการตลาดเพื่อยกระดับความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

ปัจจุบันมีการต่อยอดเพื่อขยายผลโครงการ ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร : MAP มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ต้นแบบลำไยทอด ที่พัฒนาภายใต้แนวคิดการเพิ่มมูลค่าจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลสดเดิมและลดปัญหาของเสียผ่านนวัตกรรมการแปรรูป 2.ผลิตภัณฑ์น้ำเต้าหู้อินทรีย์คั้นสดสำหรับผู้หญิงวัยทองและผู้สูงวัย ที่พัฒนาภายใต้แนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบและการยกระดับกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานเพื่อความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดในระดับภูมิภาค  3.ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “ครีมจากข้าว และ ข้าวพองธัญพืช” พัฒนาภายใต้ แนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวที่ปลูก และเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ Champion ประจำสุขใจฟาร์ม ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดลำพูน

พาณิชย์จังหวัดลำพูน กล่าวอีกว่า คาดหวังว่าการดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว  สามารถตอบสนองพันธกิจของกระทรวงพาณิชย์ในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจบนฐานขององค์ความรู้ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมและทุนทางวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาปัจจัยเกื้อหนุนในการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและสร้างสรรค์มูลค่า ให้แก่ผู้ประกอบการ  และตอบสนองต่อพันธกิจ การสร้างเกษตรกรรมมูลค่าสูง ตลอดห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์ของจังหวัดลำพูน คาดหวังให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของจังหวัดลำพูนมีศักยภาพสามารแข่งขันได้ในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น