(มีคลิป) กลุ่มศิลปินเมืองเทิงเร่งสร้างสรรค์แลนด์มาร์คปฏิมากรรม “เต่าน้อยอองคำ” ชูตำนานพื้นบ้านผนวกจุดเด่น อ.เทิง เล็งเปิดตัวในงาน “หนาวนี้ที่เมืองเทิง”

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีนี้นอกจากสวนไม้งามข้างน้ำกก ที่ทาง อบจ.เชียงราย ใช้เป็นสถานที่จัดงานไม้ดอกอาเซียน ประจำปี 2564 เหมือนเช่นทุกปีแล้ว ทาง อบจ.เชียงราย ยังได้แบ่งกระจายไปจัดตามอำเภอรอบนอก อันประกอบด้วย อ.พาน อ.แม่สรวย อ.เชียงของ และ อ.เทิง เพื่อลดความแออัดของนักท่องเที่ยว ตามมาตรการลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งแต่ละพื้นที่จะนำเสนออัตลักษณ์และชูจุดเด่นของแต่ละอำเภอ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

โดยทางอำเภอเทิง กลุ่มศิลปินลูกหลานชาว อ.เทิง ได้เร่งก่อสร้างงานปฏิมากรรมรูป “เต่าน้อยอองคำ” เพื่อเป็นแลนด์มาร์คสำคัญแสดงจุดเด่นทางด้านศิลปะวัฒนธรรม และสถานที่สำคัญของชาว อ.เทิง ตั้งเป้าให้เสร็จทันเปิดตัวในงานมหกรรม “หนาวนี้ที่เมืองเทิง”

นายศัจกร แก้วกุลา อายุ 30 ปี ศิลปินชาวอำเภอเทิงผู้รับผิดชอบการสร้างปฏิมากรรมเต่าน้อยอองคำ เล่าว่า อำเภอเทิงมีนิทานพื้นบ้านซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ได้เล่าสืบต่อกันมานาน เรื่อง “เต่าน้อยอองคำ” และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ที่วัดงิ้วเก่า ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย ต่อมานางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย คนปัจจุบัน ได้มีแนวคิดตั้งแต่เมื่อยังดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรม อ.เทิง ว่าจะนำเอาตำนานเรื่องเล่าของเต่าน้อยอองคำมาสร้างเป็นงานปฏิมากรรมเพื่อเป็นจุดแลนด์มาร์คให้นักท่องเที่ยวแวะมาศึกษาและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก กลุ่มศิลปินลูกหลานชาวอำเภอเทิงจึงได้ร่วมกันออกแบบ โดยยึดเอาเต่าน้อยจากนิทานเรื่องเต่าน้อยอองคำเป็นตัวหลัก

และได้นำเอาสถานที่สำคัญของอำเภอเทิงมาประกอบเข้ากับตัวเต่า ได้แก่ ด้านบนหัวของเต่าจะมีรูปจำลองของ “พระธาตุจอมจ้อ” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่อำเภอเทิง ที่ด้านหลังกระดองเต่ามีลักษณะเป็นเนินแหลมชี้ขึ้นฟ้า หมายถึง “ภูชี้ฟ้า” สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเทิง ด้านหางของเต่ามีลักษณะเป็นใบโพธิ์ 5 ใบ ใบโพธิ์นี้จะมีปรากฏอยู่ในนิทานด้วย โดยจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่เต่าน้อยอองคำถูกฆ่าแล้วตัวลูกสาวแอบเอานำกระดูกไปฝังดินจนได้เกิดใหม่เป็นต้นโพธิ์ และยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสงบร่มเย็นของอำเภอเทิง รวมถึงเป็นสิ่งแทนถึงขันธ์ 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักธรรมในการดำรงชีวิต ส่วนที่หน้าอกของเต๋าจะมีการนำเอาพระพุทธรูปจำลององค์สำคัญมาประดิษฐานไว้ด้วย แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนาที่มีมานานคู่ชุมชน

ด้านนายสุขุม เขื่อนศิริ อายุ 33 ปี ศิลปินเมืองเทิงซึ่งดูแลงานจิตรกรรมที่ฐานของรูปปฏิมากรรมเต่าน้อยอองคำ เผยว่า นิทานพื้นบ้านเรื่องเต่าน้องเป็นนิทานโบราณอายุนับพันปี ที่คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวจ้วง จากประเทศจีน ได้เล่าสืบต่อกันมา และมีการหยิบยกเอาสถานที่จริงในพื้นที่มาผนวกรวมในนิทานด้วย บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เราจึงหยิยยกเอาเรื่องราวดังกล่าวมาบอกเล่า โดยที่บริเวณฐานของเต่าน้อยอองคำ จะหยิบยกเอาฉากสำคัญในนิทานมาวาด ซึ่งทางกลุ่มศิลปินได้เลือกเอาภาพจากเหตุการณ์ในนิทานมาวาดจำนวน 7 ภาพรอบ ๆ ฐาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านที่สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้

ซึ่งงานปฏิมากรรม “เต่าน้องอองคำ” จะตั้งอยู่ที่ข่วงอำเภอเทิง บริเวณเชิงสะพานแม่น้ำอิง พื้นที่บ้านเวียง ม.1 ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย คนที่สนใจอยากไปชมหรือไปศึกษาตำนานพื้นบ้านของชาวอำเภอเทิง สามารถไปชมได้ โดยจะเปิดตัวให้เที่ยวชมพร้อมกับวันเปิดงาน “หนาวนี้ที่เมืองเทิง” ในช่วงปลายปีนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น