นายก ทต.เวียงเชียงแสน สั่งยกเลิกบอร์ดท่าเรือเวียงเชียงแสน ด้านผู้บริหารฯยื่นคัดค้านคำสั่ง

วันที่ 14 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องมาจาก นางเกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้มีคำสั่งเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ที่ 2336/2564 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ยกเลิกคณะกรรมการบริหารท่าเรือเชียงแสน ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลสมัยที่ผ่านมา และนายกคนก่อน ว่าตามที่เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นมาทั้งหมด 9 คน ที่มีพลเรือโทสุรพงษ์ อัยสานนท์ เป็นประธานกรรมการฯ เพื่อให้บริหารจัดการท่าเรือเวียงเชียงแสน เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน พิจารณาแล้วคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 เรื่อง การบริหารจัดการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 (เรื่อง ขอความเห็นชอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จังหวัดเชียงราย และให้ใช้ประโยชน์ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย เป็นท่าเรือท่องเที่ยว) ในส่วนของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จากเดิมที่มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานบริหารท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย เป็น มอบหมายให้เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนเป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ (landmark) ของอำเภอเชียงแสน อันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและจังหวัดเชียงราย ในด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสังคม

นางเกศสุดา ได้กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้พิจารณาตามประเด็นที่จังหวัดเชียงราย หารือมาแล้วมีความเห็นว่า เมื่อการจัดให้มีท่าเทียบเรือเพื่อบริการสาธารณะแก่ประชาชน เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ซึ่งได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ให้เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน เป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน ที่จะต้องรับผิดชอบในการบริหารกิจการดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฎว่ามีกฎหมายบัญญัติให้เทศบาลสามารถมอบหมายให้เอกชนหรือบุคคลอื่นดำเนินกิจการนี้แทนเทศบาลได้ เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน จึงไม่สามารถมอบหมายให้เอกชนหรือบุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ และหนังสืออำเภอเชียงแสน ที่ ชร 0023.10/1934 ลงวันที่ 9 กันยายน 2564 ประกอบกับหนังสือจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 7 กันยายน 2564 หารืออำนาจของนายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน ในการแต่งตั้งหรือยกเลิกคณะกรรมการบริหารท่าเรือ ตามเทศบัญญัติเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ในการใช้ท่าเรือเวียงเชียงแสน พ.ศ.2558 ซึ่งเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนมีอำนาจจัดทำกิจการให้มีท่าเทียบเรือและท่าข้าม ในเขตเทศบาล และมีอำนาจตราเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมาย และนายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่ กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และนโยบาย และสั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน นอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว

นางเกศสุดา กล่าวอีกว่า ยังมีข้อเท็จจริงอันบ่งชี้ถึงปัญหาต่างๆ ทำให้การบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสนไม่สามารถตรวจสอบได้ และไม่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนท้องถิ่น คณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ไม่มีการรายงานผลการดำเนินงานการบริหาร จัดการท่าเรือ สรุปรายรับ – รายจ่าย ตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท่าเรือ เพื่อใช้ตรวจสอบและรักษาผลประโยชน์ระหว่างเทศบาลเวียงเชียงแสน กับ บริษัท นิวเชียงแสนกรุ๊ป จำกัด โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเทศบาลได้รับเงินรับฝากจากการบริหารจัดการท่าเรือเพียง 300,000 บาท และคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน มีปัญหาหนี้ค้างค่าเช่าท่าเรือกับธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงราย จำนวนเงิน 172,343 บาท ค่าประกันอัคคีภัย จำนวน 56,197.47 บาท

 

ซึ่งต่อมาคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ได้คัดสรร บริษัท นิวเชียงแสนกรุ๊ป จำกัด ให้เป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือเวียงเชียงแสน ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน เป็นหน่วยงานบริหาร ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 กรมธนารักษ์ ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาทบทวนว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือ จากการประชุมดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนว่าเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนจะได้สิทธิในการบริหารท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงรายหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้บริษัท นิวเชียงแสนกรุ๊ปจำกัด ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 85,000,000 บาท (แปดสิบห้าล้านบาท) จากการเรียกร้องค่าเสียหายถึง 85,000,000 บาท (แปดสิบห้าล้านบาท) ก่อนที่จะเข้ามาบริหารจัดการท่าเรือ แสดงให้เห็นว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากท่าเรือมีมูลค่าสูงกว่า 85,000,000 บาท (แปดสิบห้าล้านบาท) ณ ขณะนี้บริษัท ได้บริหารจัดการท่าเรือล่วงเลยมาเป็นระยะเวลา 6 ปี กลับส่งเงินเป็นเงินรับฝากให้เทศบาลเพียง 300,000 บาท ทำให้เห็นว่าเทศบาลสูญเสียรายได้จากการบริหารจัดการท่าเรือเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นเป็นเงินจำนวนมาก

นางเกศสุดา กล่าวอีกด้วยว่า จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน บริหารจัดการท่าเรือเป็นไปโดยไม่มีอำนาจ ขาดประสิทธิภาพ ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ และไม่รักษาผลประโยชน์ของเทศบาลเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของท้องถิ่นและประชาชนให้กับคนเชียงแสน ตนจึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ทั้งนี้ให้คณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ส่งรายงานสรุปรายรับ – รายจ่าย ชำระหนี้สิ้น ที่ค้างชำระกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งคืนพื้นที่ วัสดุ ครุภัณฑ์เกี่ยวกับท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงรายทั้งหมด ให้เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง หากคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่ง ให้อุทธรณ์ภายใน 15วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และตอนนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ ป
.ป.ช.แล้ว

หลังจาก พลเรือโทสุรพงษ์ อัยสานนท์ ประธานกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ได้รับหนังสือของนางเกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน ยกเลิกคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ได้ทำหนังสืออุทธรณ์แย้งไปว่า คำสั่งของนางเกศสุดา เป็นคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48 เตรส และมาตรา 48 สัตตรส มาตรา 60 วรรค 1 ทั้งนี้การบริหารท่าเรือ หรือการใช้ท่าเรือเวียงเชียงแสนได้ปรากฏในเทศบัญญัติเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 8 เมษายน 2558 ซึ่งในปัจจุบันเทศบัญญัติดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ และโดยความเห็นชอบของสภาเทศบาลเวียงเชียงแสน

พลโทเรือสุรพงษ์ ได้กล่าวว่า คำสั่งการยกเลิกคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ ของทางราชการ ตนได้ทำหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 64 ถึงนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนางเกศสุดา นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน เพราะคำสั่งยกเลิกฯไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาเทศบาลฯ และไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรม นอกจากนี้คณะกรรมการบริหารท่าเรือ ได้มีหนังสือแสดงความเห็นต่างไปยังอำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงแสนได้มีหนังสือแนะนำมายังเทศบาล แต่นางเกศสุดาเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้กรรมการบริหารท่าเรือได้รับความเสียหาย ส่วนการจัดส่งรายได้ในการเข้าไปบริหารท่าเรือนั้น คณะกรรมการบริหารได้จัดส่งให้ทางเทศบาลไปแล้ว 300,000 บาท เมื่อปี 2562 และ ปี 2563 ต่อมาเกิดสถานการณ์โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลประกาศปิดประเทศ ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีรายได้ ท่าเรือเวียงเชียงแสนได้ลดค่าใช้จ่ายลง เพื่อให้ท่าเรืออยู่ได้

ต่อมาเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 ธันวาคม ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ได้มีการประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ 4 ครั้ง 1 ซึ่งมีนางเกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน พ.ต.อ.สินทิช กรกฎกำจร รองนายก เข้าร่วมประชุม โดยมีนายวิชาญ ทันใจ ประธานสภา และ ส.อ.สุรชาติ จินดาวงศ์ รองประธานสภา พร้อมสมาชิกสภาอีก 10 คน โดยมีตัวแทนของหมู่บ้านเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพราะมีญัตติ เสนอร่างเทศบัญญัติ เรื่องยกเลิกเทศบัญญัติเทศบาลตำบลเวียง เรื่อง การใช้ท่าเรือเวียงเชียงแสน พ.ศ.2558 และเสนอญัตติให้ยกเลิกคณะกรรมการบริหารท่าเรือเวียงเชียงแสน ว่าที่ประชุมสภาจะมีมติในออกในรูปแบบใด

รายงานข่าวล่าสุด นางเกศสุดา ได้แจ้งในที่ประชุมขอถอนทั้ง 2 ญัตติออกไป เพื่อนำไปหาข้อยุติร่วมกัน และจะนำกลับเข้าสภาให้พิจารณาใหม่ในคราวต่อไป.

ร่วมแสดงความคิดเห็น