ด่วน!! ท่าวังผา พบผู้ป่วยโรคหูดับเสียชีวิต 1 แล้วมีผู้ป่วยสาหัส อีกรวม 1 ราย

ด่วน ท่าวังผา พบผู้ป่วยโรคหูดับเสียชีวิต 1 แล้วมีผู้ป่วยสาหัส อีกรวม 1 ราย เตือนร้านอาหารพื้นเมืองเลิกขายหลู้ – ลาบดิบ ขู่หากไม่เชื่อฟัง เกิดเหตุซ้ำซากถึงขั้นดำเนินคดี – ปิดกิจการ

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 น.พ.พงศ์เทพ วงศ์วัชระไพบูลย์ รอง ผอ.โรงพยาบาลน่าน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทึ่อำเภอท่าวัง จ.น่าน พบป่วยโรคหูดับ (Streptococcus suis) – เสียชีวิต 1 แล้วมีผู่ป่วยสาหัส อีก 1 ราย โดยในขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันแล้วทั้งหมด 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย มีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจเข้ารับการรักษาในห้องภาวะวิกฤติอายุรกรรม (ไอซียู) 1 ราย โดยผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ที่บ้านฝายมูล อำเภอท่าวังผา ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเพศชาย

จากการสอบสวนโรคของนายชัยวุฒิ วันควร สสอ.ท่าวังผา หน.ชุดสอบสวนโรค อำเภอท่าวังผา หลังจากที่ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลน่าน ว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหูดับจำนวน 1 รายและ กำลังรักษาอยู่อีกจำนวน 1 ราย จึงได้ออกสอบสวน ที่บ้านฝายมูล ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน พบว่า 1.ผู้เสียชีวิต เป็นเพศชาย อายุ 69 ปี มีประวัติ กินลาบหมูดิบ จากการเลี้ยงเจ้าที่ในหมู่บ้าน ในช่วงวันที่ 9 ธันวาคม และในวันที่ 14 มีอาการซึม ญาตินำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท่าวังผา และส่งต่อโรงพยาบาลน่าน ผลตรวจพบว่าเป็นไข้หูดับ และเสียชีวิตวันที่ 17 ธค.
2. ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 43 ปี มีประวัติกินลาบหมูดิบจากการเลี้ยงเจ้าที่ในหมู่บ้านเดียวกัน มีอาการไข้ซึม เข้ารับการรักษา วันที่ 13 เข้ารับการรักษาที่ รพ.ท่าวังผา และส่งต่อรพ.น่าน ผลตรวจเป็นโรคหูดับ ปัจจุบันยังรักษาอยู่

ทั้งนี้ ทีมสอบสวนโรค ได้แจ้งให้ ผู้นำชุมชน พี่น้องอสม.ได้ประชาสัมพันธ์ในการเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองหากมีประวัติการกินลาบหมูดิบ หลู้หมูดิบหรือเนื้อหมูดิบ แล้วมีอาการไข้ซึมให้สงสัยเป็นโรคหูดับ ให้รีบเข้ารับการรักษา เร่งด่วนต่อไป และขอความร่วมมืองดการกินหมูดิบทุกชนิด เพื่อไม่ให้เป็นโรคหูดับ ดังกล่าวด้วย

ด้าน นายแพทย์ พงษ์เทพ วงวัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ฝ่ายปฐมภูมิ กล่าวว่า เชื้อโรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมทอลซิลของหมู โรคนี้เกิดได้ทั้งปีแต่มักจะมีการระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว  ซึ่งเป็นช่วงที่หมูมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดของหมูทำให้หมูตาย ถ้ามีผู้นำเนื้อหมูหรือเลือดหมูมารับประทานแบบไม่ผ่านความร้อนจะทำให้ติดเชื้อได้ ในแต่ละปีจังหวัดน่านจะพบผู้ป่วยติดเชื้อสเตรปซูอิสเฉลี่ยจำนวน 20 รายต่อปี  ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ถ้าติดเชื้อเข้าเยื่อบุประสาทจะทำให้ คอแข็ง หูไม่ได้ยิน ถ้าติดเชื้อเข้ากระแสเลือดจะมีความดันโลหิตลดลง ช๊อคจนถึงเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตวาย โรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดม้าม หรือ ดื่มสุราเป็นประจำ

จากการสอบสวนในหลายปีที่ผ่านมาพบว่า หมูที่เป็นสาเหตุของการระบาดมักเกิดจากหมูที่เลี้ยงเองและชำแหละเองในชุมชน เมื่อหมูป่วยจึงรีบชำแหละและนำออกเร่ขาย จึงขอฝากแจ้งเตือนให้ประชาชนงดรับประทานอาหารเนื้อหมูที่ปรุงสุกๆดิบๆ เช่นลาบ หลู้ เนื้อหมูที่นำมาประกอบอาหารควรผ่านความร้อนให้ทั่วถึง เนื้อหมูที่นำมาปิ้งย่าง ควรย่างให้สุก และควรแยกตะเกียบระหว่างตะเกียบเนื้อสัตว์ดิบ กับตะเกียบที่ใช้รับประทาน เขียงที่ใช้ควรแยกระหว่างเขียงอาหารดิบเพื่อเตรียมประกอบอาหาร และอาหารสุก เพื่อระวังไม่ให้ปนเปื้อนเชื้อโรค ควรซื้อหมูที่ผ่านโรงเลี้ยง และโรงชำแหละที่มีมาตรฐาน ผู้ที่ชำแหละหมูจะต้องสวมชุดและอุปกรณ์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานและล้างมือให้สะอาดเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล ในระหว่างการชำแหละได้

สุดท้ายฝากเตือนร้านอาหารพื้นเมืองเลิกขายหลู้ – ลาบดิบ ขู่หากไม่เชื่อฟัง เกิดเหตุซ้ำซากถึงขั้นดำเนินคดี – ปิดกิจการ ขณะที่ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนค่านิยมเลิกพฤติกรรมล้าสมัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น