เชียงใหม่จัดเสวนา “สร้างความตระหนักแก่เด็ก เยาวชน” โฟกัสที่นักเรียน หวังได้เครือข่ายแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นละอองที่ยั่งยืน

วันที่ 22 ธ.ค. 64 ที่หอประชุมอาคารต้นยางใหญ่ โรงเรียนสารภีพิทยาคม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรมและบรรยายพิเศษ ในการเสวนาวิชาการ ถอดประสบการณ์ในประเด็นท้าทาย เรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ที่มีต่อสุขภาพและการท่องเที่ยวในอำเภอสารภี ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ภายใต้โครงการ สร้างเครือข่ายและเยาวชน 12 เทศบาลในอำเภอสารภี เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยมี นายวุฒิไกร วรรณการ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ คณาจารย์ นักเรียน ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมการเสวนา พร้อมกันได้มีวงเสวนาจากวิทยากรหลากหลายภาคส่วน อาทิ ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ปลัดอาวุโสอำเภอสารภี ผู้แทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่

นายรัฐพล นราดิศร รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและไฟป่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชน เด็กๆ ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ให้เข้าใจในสภาพของจังหวัดเชียงใหม่ สภาพของประเทศไทย เข้าใจว่าปัญหาหมอกควันไฟป่า ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 มีผลประทบต่อสุขภาพพี่น้องประชาชนมากน้อยอย่างไร มีผลต่อการท่องเที่ยวอย่างไร มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างไร การสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในทุกพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ

“คาดหวังว่าเด็กๆ น้องๆ ที่ร่วมกิจกรรมนี้จะไปถ่ายทอดต่อได้ อย่างน้อยก็อยากให้รู้ว่า ค่า PM ที่โลกใช้วัดกันอยู่นี้ เป็นอย่างไร มีเหตุผลอะไรที่ต้องมีการรณรงค์ในการที่จะลดค่า PM2.5 ซึ่งค่า PM2.5 หลายคนเชื่อว่ามาจากไฟป่าอย่างเดียว แต่ความเป็นจริงในห้วงเวลา 365 วัน จะเจอค่า PM2.5 ที่สูงกว่าค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ก็อยากให้น้องๆ นักเรียนได้รับรู้ถึงโทษ ถึงแนวทางในการแก้ไข ให้รู้ถึงการสร้างวินัยให้กับตนเอง ซึ่งหากใช้เฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลักก็จะไม่ทั่วถึง หากทุกคน หรือน้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจ มีความตระหนัก ก็จะบอกกล่าวให้พ่อแม่ บอกกล่าวให้กับเพื่อนฝูงได้รับทราบแล้วจะได้ช่วยกันในการที่จะไม่ก่อให้เกิดการสร้างมลพิษสร้างค่าPM2.5” นายรัฐพลฯ กล่าว

“ในปี 2565 จังหวัดเชียงใหม่จะ Kick Off การแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง PM2.5 ในวันที่ 26 ธ.ค. 64 นี้ หลังจากนั้นจะเป็นการสร้างการรับรู้ทำความเข้าใจให้กับประชาชนในแต่ละอำเภอให้รู้ถึงแผนของแต่ละอำเภอในการจะบริหารจัดปัญหาไฟป่าฯ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การทำแนวกันไฟ การบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองอย่างไร พร้อมกับให้รวบรวมแผนในพื้นที่ส่งให้มายังจังหวัดเพื่อนำมาจัดเรียงการจะจัดการพื้นที่ใดก่อนหลังในการบริหารจัดการ ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดให้ความสำคัญในพื้นที่ที่เกิดจุด Hot Spot เป็นหลัก จุดไหนเกิดมากจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายรัฐพล นราดิศร รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่กำหนดในปีนี้ จุด Hot Spot ต้องลดลง 20% ซึ่งปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นไม่มาก เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการกำหนดเป้าหมายในห้วงเวลา 5 ปีต้องลดลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% ในปีที่ผ่านมาลดลงอย่างมากในรอบ 3 ปีหลัง ปัจจัยสำคัญคือ มีฝนในพื้นที่มีมาก ทำให้ปัญหาเบาบางลง แม้ว่าจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาการที่จะทำให้เป้าหมายลดลงกว่าปีที่ผ่านมาหรือเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องชี้ได้ว่าแผนที่มีอยู่จะตอบเป้าประสงค์ได้หรือไม่อย่างไร ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขในปีต่อๆ ไป ซึ่งก็หวังไว้ว่าหากลดการเผาลงได้ต่อเนื่องในห้วงเวลา 5 ปี ปัญหาหมอกควันไฟป่าก็จะลดลงเป็นเหมือนในอดีตก่อนหน้านั้น

เสร็จสิ้นพิธีเปิดการเสวนาฯ นายรัฐพล นราดิศร รอง ผวจ.เชียงใหม่ ได้บรรยายพิเศษ เพื่อสร้างความเข้าใจถึง ค่า PM2.5 แนวทางการช่วยกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง พร้อมกันนี้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ร่วมกิจกรรมได้ตั้งคำถามต่อประเด็นปัญหาไฟป่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมทั้งในห้องประชุม และรับชมผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์ของโรงเรียนสารภีพิทยาคม โดยคำถามที่น่าสนใจ นักเรียนถามว่า กรณีไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านทำให้เกิดฝุ่นควันข้ามแดน จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร

ร่วมแสดงความคิดเห็น