ชาวบ้านสะบู-เหมืองค่า ยันไม่เอาขยายสนามบิน ตามโครงการขยาย พัฒนาท่าอากาศยานแพร่

ตามที่เจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษาฯ ของโครงการขยายพัฒนาท่าอากาศยานแพร่ ลงพื้นที่พบพี่น้องประชาชน ที่วัดเหมืองค่า ต.เหมืองหม้อ อ.เมือง จ.แพร่ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 โดย นายเบญจพล อินทรศรี ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะฯ สำหรับพี่น้องชาวบ้านสะบู ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่  ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ทั้งหมด 102 ครอบครัว โดยมี พระครูสีหปภัสสร เจ้าอาวาสวัดเมืองค่า นางศรีรัตน์ เหมืองคำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านสะบู นายวิทูล ชมพูมิ่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 นายพรมมา คำแปน นายก อบต.เหมืองหม้อ นายวุฒิพงษ์ กาซ้อง ส.อบจ.แพร่ นายพจน์ ปัญญานะ กำนันต.เหมืองหม้อ ผู้สนใจ และประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ 102 ครอบครัว เข้าร่วมรับฟัง

สำหรับความเป็นมาของโครงการ ปัจจุบันท่าอากาศยานแพร่ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินและผู้โดยสารเป็นอย่างมาก แต่มีลานจอดเครื่องบินขนาด 60 x 80 เมตร ที่สามารถรองรับอากาศยานไม่เกิน 80 ที่นั่งได้เพียง 2 ลำ โดยมีอาคารผู้โดยสารขนาด 1, 400 ตารางเมตร และทางวิ่งขนาด 30 x1,500 เมตร ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้บริการท่าอากาศยานในอนาคต กรมท่าอากาศยาน จึงมีความประสงค์ที่จะขยายความยาวทางวิ่งของท่าอากาศยานแพร่ เป็น 2,100 เมตร จึงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ด้านวิศกรรมบริษัทแห่งหนึ่ง และด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน บริษัทแห่งหนึ่ง ให้เป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำแบบรายละเอียดการพัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐาน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มาตรฐานทางวิศวกรรมและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง


แนวคิดและรูปแบบในการพัฒนาองค์การโครงการ จากการคาดการณ์ในอนาคต จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และอีกทั้งเมืองแพร่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ทำให้ทางวิ่งปัจจุบันไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและอากาศยานที่ มาใช้ในอนาคตได้ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงขยายทางวิ่ง ทางขับลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นที่จะมาใช้ท่าอากาศยานในปี 2597 จึงได้ออกแบบ รูปแบบทางเลือกการขยายทางวิ่งทางขับและลานจอดเครื่องบินของท่าอากาศยานแพร่ ,โดยรูปแบบที่มีความเหมาะสมเป็นการขยายพื้นที่ทั้งสองด้าน คือทางด้านหัววิ่ง 01 (ขยายไปทางทิศใต้และทางวิ่ง 19 (ขยายไปทางทิศเหนือ) พร้อมก่อสร้างทางขับและขยายลานจอดใหม่

ขยายทางวิ่ง จากเดิมขนาดกว้าง 30 x1,500 เมตร ไหล่ทาง 7.5 เมตร เป็นขนาดกว้าง 45 เมตร มีความยาวรวม 2,100 เมตร ไหล่ทาง 7.5 เมตร พร้อมพื้นที่ติดตั้งไฟนำร่อง กว้าง 60 เมตร ที่หัวทางวิ่ง 19 (ทิศเหนือ) ยาว 420 เมตร และที่หัวทางวิ่ง 01 (ทิศใต้) ยาว 900 เมตร และเสริมความแข็งแรงทางวิ่งเดิม ขยายทางขับเดิม จากกว้าง 15 เมตร เสริมความแข็งแรงทางขับเดิมและก่อสร้างทางขับใหม่ ขนาดกว้าง 15 เมตร ไหล่ทางขับ 10.5 เมตรยาว 190 เมตร ขยายลานจอดจาก เดิมขนาด 60 x180 เมตร จากเดิมสามารถจอดเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่งได้ 2 ลำเป็น 90 x 185 เมตร สามารถจอดเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง ได้ 4 ลำ และเสริมความแข็งแรงลานจอดเครื่องบินเดิม เวนคืนที่ดินเพื่อติดตั้งไฟนำร่อง ก่อสร้างถนนตรวจการภายใน ถนนในสนามบิน รั้ว รางระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อหน่วงน้ำอาคารดับเพลิง อาคารประปา อาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารศูนย์ขนส่ง ลานจอดรถและเขตปลอดภัยทางรอบวิ่ง

สำหรับการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม รูปแบบการพัฒนาโครงการเข้าข่ายประเภทและกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดโครงการกิจการหรือการดำเนินการ ซึ่งจัดทำรายงานการประเมินผลสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2562) ประเภทโครงการระบบขนส่งทางอากาศเฉพาะการก่อสร้างหรือขยายสนามบิน ที่มีขนาดความยาวทางวิ่งตั้งแต่ 1,100 เมตรขึ้นไป เพื่อสนองเพื่อเสนอขอความเห็นชอบ จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)โดยมี (ร่าง) มาตรการและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จากการลงพื้นที่ของทางเจ้าหน้าที่ษริษัทปรึกษาของโครงการฯ ชาวบ้านบ้านสะบูและบ้านเหมืองค่า ตำบลเหมืองหม้อ ต่างมีความเห็นว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นทางพี่น้องชาวบ้าน กว่า 100 ครอบครัว จะได้รับกระทบเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะได้รับการชดเชยหรือค่าเวณคืน แต่ก็ไม่สามารถจะเยียวยาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้อย่างมีความสุขได้ เหมือนเดิมเพราะมีการสรุปบทเรียนมาครั้งหนึ่งแล้ว ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีการย้ายครอบครัวออกจากพื้นที่ แต่ปัจจุบันนี้ความเป็นอยู่อย่างลำบากยากแค้นเช่นเดิม ส่วนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายงอกขึ้นเป็นจำนวนมาก และให้ย้ายสนามบินแพร่ ไปสร้างที่อื่น เช่น นิคมอุตสาหกรรม อำเภอร้องกวาง หรือที่ไหนก็ได้ เพราะยังอยู่ตรงนี้ก็จะต้องมีการขยายแบบนี้อีกแน่นอนอย่างที่ จังหวัดพะเยา มีการสร้างสนามบิน ใช้งบประมาณ 5 พันล้านเอง “สรุปชาวบ้านสะบูและบ้านเหมืองค่า ไม่ขอรับข้อเสนอใดๆแล้ว ไม่เอาสนามบินเด็ดขาด” และจะมีการดำเนินการต่อในเรื่องนี้อีกต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น