(มีคลิป) ปศุสัตว์จังหวัดน่าน เปิดฝึกอบรมหลักสูตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น.ณ ห้องแกรนด์บอลลูน โรงแรมเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน  จังหวัดน่าน นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร” โดยปศุสัตว์จังหวัดน่าน จัดฝึกอบรมผู้ประกอบการการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดในการเลี้ยงสุกรของตนเอง ทั้งด้านการจัดการต้นทุนและการป้องกันโรคระบาด ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรการฯ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จาก อำเภอเมืองน่าน, เวียงสา, ภูเพียง,นาน้อย, บ้านหลวง และสันติสุข รวมจำนวน 106 ราย


จากสถานการณ์ราคาสุกรแพงในปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาฯ 3 ระยะ ได้แก่ มาตรการระยะเร่งด่วน ห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 ถึง วันที่ 5 เมษายน 2565 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ ช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี, การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกร ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่อโรคระบาดต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น เร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร

เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการ ที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว เร่งเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็ก ที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่ กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้ อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค และมาตรการระยะสั้น ได้แก่ ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด มาตรการระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์ม  ฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมหรือ GFM มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจ ให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ เพิ่มปริมาณการผลิตสุกรให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

ร่วมแสดงความคิดเห็น