แจ้งแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ 41 จังหวัด ได้ ส.ส.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ติดโผ!

นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติหน้าที่แทน เลขาธิการ กกต.ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ ลด 0012/ว178 ลงวันที่ 1 ก.พ.65 สำนักงาน กกต. เรื่อง การประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร และการเตรียมความพร้อม ในการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ไปยัง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือระบุว่า ด้วยสำนักทะเบียนกลางได้มีหนังสือส่งประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 มกราคม 2565 สำนักงาน กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1 พุทธศักราช 2564) ได้กำหนดให้มี ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัด จะพึงมีให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส. 400 คน ซึ่งสำนักงาน กกต.ได้คำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต
เลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีแล้ว

ดังนี้จังหวัดที่มี ส.ส. 1 คน ตราด ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี จังหวัดที่มี ส.ส. 2 คน ชัยนาท นครนายก (เพิ่มจากเลือกตั้งปี 2562 +1 คน) พังงา (+1) มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน (+1) ลำพูน สตูล อ่างทอง 2 คน (+1) อำนาจเจริญ อุทัยธานี ที่มี 3 คน กระบี่ จันทบุรี ชุมพร น่าน บึงกาฬ (+1) ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี แพร่ (+1) ภูเก็ต (+1) ยโสธร ยะลา สระแก้ว หนองคาย หนอง บัวลำภู อุตรดิตถ์ (+1) จังหวัดที่มี 4 คน กำแพง เพชร ฉะเชิงเทรา ตรัง (+1) ตาก (+1) นครพนม ปัตตานี ลพบุรี ลำปาง เลย (+1) สมุทรสาคร (+1) สระบุรี (+1) สุโขทัย (+1)

จังหวัดที่มี 5 คน เพิ่มจังหวัดละ 1 คน นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา ระยอง สุพรรณบุรี โดยกาญจนบุรี พิษณุโลก ราชบุรี ได้เท่าเดิม จังหวัดที่มี 6 คนกาฬสินธุ์ (+1) นครปฐม (+1) นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ (+1) มหาสารคาม (+1) จังหวัดที่มี ส.ส.7 คน ซึ่งแต่ละจังหวัดเพิ่มมา 1 คน ชัยภูมิ ปทุมธานี สกลนคร สุราษฎร์ธานี จังหวัดที่มี 8 คน เชียงราย (+1) นนทบุรี (+2) ร้อยเอ็ด (+1) สมุทรปราการ (+1) สุรินทร์ (+1) จังหวัดที่มี 9 คน เพิ่มมาจังหวัดละ 1 คน มีนครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ สงขลา อุดรธานี จังหวัดที่มี 10 คน เพิ่มมาที่ละ 2 คือ ชลบุรี บุรีรัมย์ และจังหวัดที่มี ส.ส. 11 คน ขอนแก่น (+1) เชียงใหม่ (+2) อุบลราชธานี (+1) จังหวัดที่มี 16 คน มีนครราชสีมา (+2) และกรุงเทพมหา นคร 33 คน (+3)

การกำหนดจำนวน สส.ที่พึงมีนั้น เพื่อให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่จำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดจะพึงมีเกิน 1 คน เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ จะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป โดยจำนวนราษฎรทั้งประเทศ 66,171,439 คน กฎหมายกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน เมื่อ กกต.คำนวณจำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน อยู่ที่ 165,428.5975 คน

หากคิดจำนวน ส.ส.เป็นรายภาค พบว่า ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และ 26 จังหวัด จะมี ส.ส. 139 คน ภาคใต้ 14 จังหวัด จะมี ส.ส. 58 คน ภาคเหนือ 16 จังหวัด จะมี ส.ส. 71 คน และภาคอีสาน 20 จังหวัด จะมี ส.ส 132 คน วันนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากมีการยุบสภาระหว่างที่ยังไม่เสร็จ ถ้ายุบสภาเกิดขึ้นจะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก แต่ที่จริงสามารถทำอะไรไปพลางได้ แต่จะเกิดการถกเถียงกันขึ้น เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมาย จึงไม่มีข้อยุติ จะยุ่งยาก “ประเด็นจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือเป็นประกาศ กกต.แทนได้ หรือไม่นั้น กกต.คงไม่กล้าออก เพราะการเขียน พ.ร.ก. คือ การให้รัฐบาลกำหนดกติกา”

ร่วมแสดงความคิดเห็น