แพทย์ทหารห่วงใย กินดิบเสี่ยง “โรคไข้หูดับ และเสี่ยงต่อโรคพยาธิตัวตืด”

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1. เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมู ที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมู ที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย หลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบเพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกาย มีภูมิต้านทานโรคต่ำ

นอกจากภาวะโรคหูดับแล้ว การรับประทานเนื้อ-หมู สุกๆ ดิบๆ ยังเสี่ยงต่อโรคพยาธิตัวตืด จากกรณี ที่มีการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ดิบ เช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว ลาบดิบ แหนมดิบ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย นั้น การรับประทานเนื้อวัว เนื้อควาย หรือเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ มีความเสี่ยงเป็นโรคพยาธิตัวตืดได้ หากในเนื้อนั้นมีถุงพยาธิตืดลักษณะคล้ายเม็ดสาคูที่มีตัวอ่อนของพยาธิอยู่ ซึ่งตัวอ่อนจะเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่ในลำไส้เล็กของคน รวมทั้งการกินผักสด ผลไม้ หรือน้ำดื่มที่มีไข่พยาธิปนเปื้อน ไข่พยาธิจะโตเป็นตัวอ่อน สร้างถุงหุ้มตัวเป็นถุงพยาธิตืดตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายคน เช่น สมอง ตา หัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อ หากอยู่ในสมองและไขสันหลัง อาจทำให้มีอาการทางระบบประสาท ชัก อาจรุนแรงถึงตาย หรืออยู่ในตาอาจตาบอดได้

สำหรับผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวตืดในลำไส้ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ โดยบางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้ เหนื่อยล้า อ่อนแอ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว มีถุงน้ำหรือก้อนเนื้อตามร่างกาย ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิตัวตืดและตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ หากมีอาการไม่ควรซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยแพทย์จะให้ยาตามน้ำหนักตัวของคนไข้และแนะนำให้คนไข้กินยาก่อนนอน เพื่อลดผลข้างเคียงของยา เช่น วิงเวียนและคลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น คนที่เป็นโรคพยาธิตืดหมู ควรกินยาขณะท้องว่างและกินยาระบายด้วย เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการขย้อนปล้องสุกของพยาธิกลับเข้าไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้เป็นโรคถุงพยาธิตืดได้ ส่วนคนที่เป็นโรคถุงพยาธิตัวตืดในอวัยวะต่างๆ และไม่มีอาการ อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากเป็นที่สมองและมีอาการชัก ปวดศีรษะมาก อาจต้องให้ยารักษาหรือผ่าตัดตามความเหมาะสม

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคดังกล่าว ขอความร่วมมือประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหาร และรับประทานอาหารดังกล่าว โดยขอให้เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเอง ในหมู่บ้าน และนำมารับประทานดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ทำให้เสี่ยงโรคไข้หูดับ พร้อมแนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ ได้แก่

  1. ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ขอให้แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน
  2. ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วยดังอากการตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
3 กุมภาพันธ์ 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น