สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จ.เชียงใหม่ ผนึกกำลังแกนนำ “อสม.ดี บุหรี่ดับ” สู่การสร้างสังคมเมืองต้นแบบปลอดบุหรี่

 

สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 1/2565 เพื่อสื่อสารยุทธศาสตร์การดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนของ จ.เชียงใหม่ เตรียมพัฒนาแกนนำตามโครงการ “อสม.ดี บุหรี่ดับ” ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำหน้าที่เป็นจิตอาสาฯ ในการช่วยเลิกบุหรี่ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการทำงานด้านบุหรี่ในชุมชน โดยมี พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าว แสดงความเห็นเกี่ยวกับ ” การรณรงค์การเลิกบุหรี่ในอดีต บทบาทของพระสงฆ์ต่อชุมชน ” ด้าน นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม กล่าวถึง “นโยบายของจังหวัดด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ” พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ กรรมการที่ปรึกษาและคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ เชียงใหม่ จากหลายภาคส่วน เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มช.

รศ.พญ.สุรินทร์พร ลิขิตเสถียร ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จังหวัดเชียงใหม่ และรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ปัญหาจากการสูบบุหรี่ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของประชาชนไทย ซึ่งสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มองค์กรภาคีหลัก ที่ได้ร่วมกันดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ร่วมกับพันธมิตรเครือข่าย มีเป้าหมายดำเนินการ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดการบริโภคยาสูบของประชากรไทยลดลงจากร้อยละ 21 ในปี 2554 ให้เหลือร้อยละ 15 ภายในปี 2568

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สถิติการบริโภคยาสูบในประเทศไทยได้ลดลงพอสมควร จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด เมื่อปี 2560 พบว่า ประชากรทั้งหมดที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งสิ้น 55.9 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน (ร้อยละ 19.1) โดยพบว่าสัดส่วนของผู้สูบบุหรี่ประจำ อยู่ที่ร้อยละ 95 ในปี 2534 และค่อยๆ ลดลงเป็นร้อยละ 88.28 ของผู้สูบบุหรี่ปัจจุบัน (ปี 2560) ในส่วนของผู้สูบบุหรี่เป็นครั้งคราว ในปี 2534 พบ 590,528 คน แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,251,695 คน ภายในรอบ 26 ปี ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นยาสูบชนิดเผาไหม้ หรือยาสูบแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า บุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือน บ่งบอกให้เห็นว่าการที่อุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ๆ อาจส่งผลให้มีผู้ทดลองสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ คิดเป็น ร้อยละ 12 ของการเสียชีวิตทั้งหมด รัฐบาลสูญเสียทางเศรษฐกิจกับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ถึง 43.6 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 0.5 ของ GDP ถ้ายังไม่มีมาตรการใดๆ ในการป้องกันและเฝ้าระวังนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการสำรวจอัตราการสูบบุหรี่จังหวัดเชียงใหม่ของผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 15.10 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปี 2557 ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 18 จะเห็นได้ว่าทางจังหวัด ได้มีการดำเนินการรณรงค์การควบคุมการบริโภคยาสูบเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้มีการดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมลดนักสูบหน้าใหม่ การบำบัดรักษาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ รวมทั้งการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายในทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา สมาพันธ์ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดโครงการขับเคลื่อน เลิกสูบ ลดเชื้อ ป้องกันวิกฤต จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อควบคุมการระบาดของของไวรัสโคโรนา-19 และควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว แกนนำอาสาสมัครสาธารณสุขของแต่ละชุมชน จะเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ และทำให้ทราบว่าความรู้และทักษะในการให้ข้อมูลตลอดถึงการช่วยเหลือให้คำแนะนำผู้สูบบุหรี่ ในการเข้าถึงการรักษา เพื่อลด ละ เลิกบุหรี่ เป็นสิ่งที่อาสาสมัคร มีความจำเป็นและมีความต้องการนำไปใช้ได้จริง ด้วยเหตุผลและความสำคัญดังกล่าว สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้เตรียมจัดทำ โครงการพัฒนาแกนนำชุมชนต้นแบบ “อสม.ดี บุหรี่ดับ” เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพที่อยู่ในชุมชน ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและมีโอกาสในการที่จะได้ช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ได้อย่างง่ายที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถที่จะช่วยเสริมสร้างทัศนคติที่ดีในการทำหน้าที่เป็นจิตอาสาได้อีกทางหนึ่ง และจะนำไปสู่เป้าหมายในการช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น