แม่อายพร้อมรับมือไฟป่าหมอกควัน ใช้ตัวเลขจุดความร้อน 2 ปีย้อนหลังเป็นฐานกำหนดมาตรการ แนวกันไฟ 333 กม.

วันที่ 4 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ณ ที่ว่าการอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ โดย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายอิสระ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะ ลงพื้นที่อำเภอแม่อายเพื่อติดตามการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ประจำปี พ.ศ. 2565 อำเภอแม่อาย โดยมี นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอแม่อาย พร้อมด้วย ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารท้องถิ่น หน่วยงานป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภอแม่อาย ร่วมให้ข้อมูล พร้อมกันนี้ได้มีการแสดงความพร้อมของเจ้าหน้าที่และจัดนิทรรศการในการลดการเผา

นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอแม่อาย รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ ว่า อำเภอแม่อายมีพื้นที่ทั้งหมด 475,725 ไร่ มีพื้นที่ที่มีปัญหาเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ยังตัดสินไม่ได้ว่าเป็นของประเทศใดราว 32 ตารางกิโลเมตร ในห้วงไฟป่าจะมีปัญหา หากเกิดไฟในพื้นที่ดังกล่าวมีความยากลำบากในการที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขป้องกัน ที่ผ่านมาทำได้แค่ทำแนวกันไฟในเขตที่ชัดเจนเป็นพื้นที่อำเภอแม่อายเพื่อไม่ให้ไฟลุกลาม ปีที่ผ่านมาก็เกิดไฟป่าในพื้นที่นี้

“ปีที่ผ่านมาทีมอำเภอแม่อายทำงานกันอย่างเต็มกำลัง จากปี 2563 แม่อายพบจุดความร้อน (Hot Spot) รวม 496 จุด ในปี 2564 Hot Spot ลดลงเหลือ 122 จุด ลดลงราว 75% จากข้อมูลจุด Hot Spot 2 ปีที่ผ่านมาได้นำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันเพื่อที่จะลดการเกิดจุด Hot Spot โดยแม่อายมีพื้นที่ที่เกิดจุด Hot Spot มาก คือ ตำบลบ้านหลวง หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 10 ทั้ง 2 หมู่บ้าน ที่ผ่านเกิดจุด Hot Spot รวมกันมากถึง 149 จุด ปี 2564 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกในพื้นที่ส่วนหนึ่งอาจทำให้จุด Hot Spot ลดลง จึงได้นำข้อมูลของปี 2563 มาประกอบเป็นข้อมูลสำหรับการกำหนดมาตรการและแผนดำเนินการของปีนี้ด้วย เพื่อให้การป้องกันดูแลทำได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม” นายอำเภอแม่อาย กล่าว

นายสิทธิศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเตรียมการในการป้องกันแก้ไขไฟป่าหมอกควัน เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ระดับอำเภอ แต่งตั้งคณะทำงานในระดับพื้นที่ทั้งตำบลและหมู่บ้าน พร้อมกันนี้ได้จัดชุดปฏิบัติการพิเศษควบคุมไฟป่าและหมอกควันฯ และชุดปฏิบัติการลาดตระเวนควบคุมไฟป่าฯ ระดับตำบล ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งในทุกตำบลโดยมีปลัดอำเภอประจำตำบลเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการฯ รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานอำนวยการฯ ระดับท้องถิ่น โดยได้มีการซักซ้อมกลไกการปฏิบัติเมื่อได้รับแจ้งการเกิดไฟหรือจุด Hot Spot ในพื้นที่เพื่อประสานบูรณการการทำงานในทุกหน่วยงาน

“สำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่สิ่งที่ต้องการมากก็คือ น้ำดื่ม หน้ากากกันฝุ่น อาหารว่าง การเข้าไปดับไฟของแม่อายบางครั้งต้องเข้าไปนอนในป่า โดยเฉพาะจุดที่ไม่สามารถดับได้ก็จะทำแนวกันไฟแล้วเฝ้าแนวอยู่ในป่า ขณะนี้ได้มีการสำรวบข้อมูลและกำหนดห้วงเวลาการกำจัดเชื้อเพลิง อยู่ระหว่างการทำแผนและบันทึกลงในระบบ Fire D อีกมาตรการคือการจัดทำแนวกันไฟ อำเภอได้รวบรวมความต้องการสร้างแนวกันไฟจากผู้ใหญ่บ้านซึ่งจะมีการทำแนวกันไฟรวม 55 จุด ระยะทางประมาณ 333 กิโลเมตร เรื่องนี้บางหมู่บ้านก็ทำโดยไม่มีงบประมาณภายใต้การอำนวยการของผู้ใหญ่บ้านก็ทำกันมาเป็นประจำทุกปี มีงบประมาณหรือไม่มีก็ต้องทำ ซึ่งหากมีงบประมาณมาสนับสนุนจะเป็นการดียิ่ง เพราะการทำแนวกันไฟในแต่ละวันค่าอาหารจะใช้เงินราว 7,000 บาท” นอ.แม่อาย กล่าว

นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นอ.แม่อาย กล่าวว่า ส่วนที่เป็นนโยบายคือ การจัดทำทะเบียนผู้เข้าป่า ซึ่งได้ทำมาทุกปี ปีนี้ก็เช่นกันได้มีการจัดทำพบว่าลดลงกว่าปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยใช้คำว่า ผู้มีอาชีพเข้าป่า ได้รับการปฏิเสธจากชาวบ้านว่าไม่ได้มีอาชีพเข้าป่า อำเภอแม่อายจึงปรับเป็นการขึ้นทะเบียนผู้เข้าป่า หาของป่า ล่าสัตว์ เป็นความเคยชินที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับป่าซึ่งต้องทำความเข้าใจ อำเภอก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พบว่าจำนวนผู้เข้าป่าเริ่มลดลง

ร่วมแสดงความคิดเห็น