องคมนตรี ตรวจเยี่ยม-ติดตามงานในพื้นที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.20 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม บ้านห้วยศาลา ตำบล ท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่โดยเมื่อปีพ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอบ้านวังดิน ตำบลแม่นาวาง  และชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋าม ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรยังยากจน ไม่มีอาชีพและที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง จึงทรงมีพระราชดำริให้โครงการหลวงเข้าไปช่วยเหลือ และพัฒนาให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และได้ตั้ง โครงการอาสาพัฒนาบ้านวังดิน-บ้านใหม่หมอกจ๋าม ซึ่งเป็นลักษณะการเยี่ยมเยือนในพื้นที่ ให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ในสมัยนั้น เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรอีก 4 ครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2519-2521 จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2526 ได้เปลี่ยนชื่อจาก โครงการอาสาพัฒนาบ้านวังดิน-บ้านใหม่หมอกจ๋าม เป็น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาครบวงจร ทั้งการพัฒนาอาชีพ สังคม และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

ปัจจุบันพื้นที่ปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมจำนวน 9 หมู่บ้าน จำนวนประชากรรวม 2,676  ครัวเรือน 17,993 คน เป็นชนเผ่าไทใหญ่  ไทลื้อ จีนยูนนาน ลีซอ ไทยแซ่ม เย้า ปกาเกอะญอ อาข่า  มูเซอ และชาวพื้นเมือง ดำเนินการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP ประกอบด้วย พืชผัก สมุนไพร ไม้ผล กาแฟ และเห็ด รวม 19 ชนิด รายได้ของเกษตรกรเฉลี่ยปีละ 76,615 บาท/ครัวเรือน โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร ผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่  ฟักทองญี่ปุ่น ฟักทองสีขาว ฟักทองสีส้ม ฟักทองจิ๋ว ฟักบัตเตอร์นัท มันเทศญี่ปุ่น มะเขือม่วงก้านเขียวก้านดำ มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ  เสาวรสเหลืองหวาน

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม องคมนตรีได้ร่วมปลูกต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำรัชกาลปัจจุบัน และเยี่ยมชมผลิตผล ผลิตภัณฑ์เด่นของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม รวมทั้งกิจกรรมของกลุ่มหัตถกรรมชนเผ่าอาข่า ไทใหญ่ ไทลื้อ ซึ่งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม ได้ร่วมสนับสนุนส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ ฟื้นฟูอนุรักษ์งานหัตถกรรมของชุมชนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และยังได้จำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริม ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 44 ราย สร้างรายได้ 970,000 บาท/ปี

ในบ่ายวันเดียวกันองคมนตรี ได้เดินทางต่อไปยังศูนย์เรียนรู้การปลูกไม้ผล หน่วยย่อยแม่สลัก ซึ่งเป็นแปลงทดสอบสาธิตการปลูกไม้ผลเขตร้อน เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าไปศึกษาและเรียนรู้ เช่น ฝรั่งคั้นน้ำ เสาวรส มะม่วงพันธุ์ต่าง ๆ ทับทิมเมล็ดนิ่ม จากนั้นองคมนตรีได้เดินทางต่อไปยังชุมชนไทลื้อบ้านวังไผ่ ซึ่งได้อพยพมาจากดินแดนสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่เข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ปัจจุบันเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ นำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติ โดยได้จัดตั้งกลุ่มการเพาะเห็ดหอม การบริหารจัดการขยะโดยชุมชน  การผลิตแก๊สจากเศษอาหาร องคมนตรีได้ร่วมปล่อยปลา ในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านวังไผ่ เพื่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำสู่ชุมชน เช่น ปลากดคัง ปลากดเหลือง ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาพลวง ปลาไน ปลาแดงน้อย จากนั้นองคมนตรีได้เดินทางไปยังแปลงของเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองญี่ปุ่นที่บ้านเมืองงามเหนือ ก่อนเดินทางกลับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น