ผวจ.เชียงราย ประชุมดำเนินการผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องแต่งกาย

วันที่ 8 ก.พ. 65 นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมการดำเนินการผลิตชุดเครื่องแต่งกาย ประจำจังหวัดเชียงราย โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ วัฒนธรรมจังหวัดฯ พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงราย กลุ่มพัฒนาสตรี ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา กลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้า และกลุ่มนักออกแบบ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือและสรุปแนวทางในการผลิตชุดเครื่องแต่งกายประจำจังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดฯ

ตามที่จังหวัดเชียงราย ได้มีการดำเนินการออกแบบลวดลายผ้า และเครื่องแต่งกายจังหวัดเชียงราย ซึ่งให้ใช้ลายเชียงแสนหงส์ดำ เป็นลวดลายผ้าประจำจังหวัดฯ และใช้สีม่วงเบอร์ 10 คือสีม่วงขาบ หรือสีม่วงบัวสาย เป็นสีของเครื่องแต่งกายประจำจังหวัดเชียงราย เพื่อนำไปออกแบบตัดเย็บชุดพิธีการ หรือชุดลำลองเพื่อใช้ในการปฏิบัติตามหน้าที่ และใช้ในงานพิธีต่างๆ โดยทีมศิลปินนักออกแบบและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านผ้า ได้ออกแบบลวดลายผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่สื่อถึงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของจังหวัดฯ ด้วยรูปแบบที่มีเอกลักษณ์คตินิยมความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างสรรค์ให้มีความร่วมสมัย

โดยลายเชียงแสนหงส์ดำ เป็นลวดลายที่เก่าแก่ เป็นเอกลักษณ์ของซิ่นเชียงแสนโบราณ พบลักษณะร่วมของลวดลายดังกล่าวของภาพโบราณ ในพื้นที่ต่างๆของภาคเหนือในประเทศไทย และการใช้สีม่วงเป็นสีประจำจังหวัดเนื่องจากพญามังรายมหาราช ได้สร้างเมืองเชียงรายตรงกับวันที่ 26 มกราคม ปี 1805 ซึ่งตรงกับวันอังคาร ซึ่งชาวล้านนาใช้สีม่วงขาบเป็นสีประจำวันอังคาร ซึ่งทางศิลปินผู้ออกแบบได้ใช้กระบวนการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงราย นำไปสู่การสร้างสรรค์ ให้มีความทันสมัยบนพื้นฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์

ผวจ.เชียงราย กล่าวว่า การออกแบบและการผลิตเครื่องแต่งการประจำจังหวัด เบื้องต้นได้ใช้โทนสีม่วงขาบ เป็นโทนสีหลัก ในการออกแบบและตัดเย็บ รวมถึงการชูอัตลักษณ์ เรื่องราว เรื่องเล่า ของลายเชียงแสนหงส์ดำ ที่นำมาใช้ในการตัดเย็บ เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่า และให้เกิดความภาคภูมิใจของความเป็นจังหวัดเชียงราย อีกทั้งสร้างการผสมผสานการใช้โทนสี และสัญลักษณ์ เข้าไปร่วมกับอัตลักษณ์ของชาติพันธ์ุอื่นๆ ทำให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น และในเบื้องต้นจะได้มีการผลิตผ้าโทนสีม่วงขาบ และชุดสำเร็จรูป ให้มีรูปแบบและราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆสามารถนำไปต่อยอด ดีไซน์ให้เป็นเอกลักษณ์ขององค์กร เพื่อใช้งานทั่วไป อีกทั้งจะได้รณรงค์ให้มีการใส่ผ้าไทย ผ้าพื้นเมืองของเชียงรายในเดือนเมษายน โดยประชาสัมพันธ์ให้ส่วนราชการได้นำร่องการสวมใส่ผ้าไทยผ้าพื้นเมือง และจะขยายไปสู่องค์กรและประชาชน ให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดเชียงรายต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น