กรมอุทยานฯ เลือกดอยเชียงดาว จัด “เสริมสมรรถนะชุดปฏิบัติพิเศษดับไฟป่า” ฝึกกว่า 225 คน ส่งลงเสริมพื้นที่ต้องระวังไฟแล้ว

 

จากสถานการณ์การเกิดภาภวะผันแปรของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ช่วงฤดูแล้งมักมีระยะเวลาที่ยาวนานและทวีความแห้งแล้งรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าทวีความรุนแรงมากขึ้นไปด้วย จนบ่อยครั้งพนักงานดับไฟป่าไม่สามารถควบคุมไฟป่าได้ในระยะเวลาอันสั้นทำให้ไฟป่าลุกลามขยายตัวเป็นวงกว้าง การปฏิบัติการดับไฟป่ายิ่งยึดเยื้อออกไปนานเท่าไรประสิทธิภาพของการำงานจะยิ่งลดลง เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าของพนักงานดับไฟป่า

การบริหารงานดับไฟป่าขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมี “ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า” เพื่อคอยสนับสนุนภารกิจดับไฟป่าในสถานการณ์ยากลำบาก เสี่ยงอันตราย เกินขีดความสามารถของพนักงานดับไฟป่าทั่วไป และตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ตามลำดับ

ที่สุดจึงก่อเกิดเป็นโครงการ “เสริมสมรรถนะชุดปฏิบัติพิเศษดับไฟป่า” โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่ง นายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงโครงการนี้ ว่า แนวทางที่เราปฏิบัติงานในปีนี้ที่จะต้องมีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เน้นถึงการปฏิบัติงานด้วยความเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียงหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสียหายต่อทรัพยสินของพี่น้องประชาชน จึงต้องมีกรเตรียมความพร้อมให้เข้มข้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การลดจุดความร้อนให้ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา 20% เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน

ด้าน นายอิสระ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ โดย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เน้นย้ำการปฏิบัติที่ต้องมีความปลอดภัย รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่เน้นในเรื่องการลาดตระเวน การป้องปราม ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้มีการสั่งการให้ทุกพื้นที่บูรณาการทำงานร่วมกัน ช่วยกันดูแลพื้นที่ร่วมกันควบคุมป้องกันไฟป่าในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง

นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวด้วยว่า ในการจัดการไฟป่าได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ หน่วยพิทักษ์ป่า หน่วยงานไฟป่า รวมถึงหน่วยจัดการต้นน้ำพระราชดำริ ทำงานร่วมกันในการลาดตระเวน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเครื่องเป่าลมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เพื่อมอบให้ทั้ง 24 อำเภอในการเข้าไปทำแนวกันไฟและดับไฟป่า

นายวิวัฒน์ นาคช่วย เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงโครงการนี้ที่เลือกพื้นที่ดอยเชียงดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นสถานที่ดำเนินการตามโครงการฯ ว่า ด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเป็นพื้นที่สำคัญในการต้องรักษาทั้งเรื่องการบุกรุก ปัญหาหมอกควัน โดยจะพยายามไม่ให้เกิดไฟ หรือเกิดไฟน้อยที่สุด หากเกิดก็จะเข้าไปดับในทันที ด้วยเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชีวมณฑล โดยได้แบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 225 นาย เข้าไปทำการสแกนพื้นที่โดยแยกเป็น 6 เส้นทางหลัก โดยต้องดำเนินการในเรื่องแหล่งน้ำ แพ็คฮอ เส้นทางลาดตระเวนที่ต้องเข้าดับไฟป่า พิกัดจุดดูวิว 360 องศา ที่สามารถมองเห็นไฟป่า โดยจะบันทึกข้อมูลพิกันลงในแผนที่ทั้งหมด หากเกิดเหตุการณ์สามารถดำเนินการตามแผนได้ทันที

โครงการ “เสริมสมรรถนะชุดปฏิบัติพิเศษดับไฟป่า” ดำเนินการทั้งสิ้น 7 วัน (ซึ่งครบเวลาตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา) จากนั้นกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า ทั้ง 225 คน ซึ่งมาจากศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าทั่วประเทศ จะแบ่งกำลังออกเป็น 15 ชุดปฏิบัติการฯ โดยจะเข้าประจำในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 11 ชุด จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.ลำปาง และพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี จังหวัดละ 1 ชุด ทั้งนี้หากพื้นที่เกิดเหตุวิกฤติก็สามารถโยกกำลังจากพื้นที่อื่นมาช่วยสนับสนุนได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น