ชมเมืองโบราณ พระบรมสารีริกธาตุ และศิลปกรรมเชียงแสน ที่วัดป่าสัก

เที่ยวชมเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังคงหลงเหลือร่องรอยศิลปกรรมอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้ได้ศึกษาเรียนรู้

วัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โบราณสถานเก่าแก่ที่สำคัญแห่งเมืองเชียงแสน มีเจดีย์ที่ยังคงมีความสวยงามตามแบบฉบับศิลปะกรรมดั้งเดิม เพราะเมืองเชียงแสนไม่ได้เสียหายจากภัยสงคราม ทำให้โบราณสถานต่างๆส่วนใหญ่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ยังคงหลงเหลือร่องรอยลวดลายปูนปั้นแบบเดิมไว้ มี “เจดีย์หรือพระธาตุวัดป่าสัก ” ปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงแสน นับว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่ง

วัดป่าสัก สร้างขึ้นในสมัยพญาแสนภู เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังราย พระโอรสในพระเจ้าชัยสงคราม เมื่อครั้งสร้างเมืองเชียงแสนและสถาปนาเป็นเมืองหลวง แล้วลดฐานะของเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองลูกหลวง จุดประสงค์ในการสร้างวัดป่าสัก เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกระดูกตาตุ่มข้างขวา โคปผกะธาตุ ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์นำมาถวายจากเมืองปาฏลีบุตร พระพญาแสนภู ได้ทรงสั่งให้ปลูก “ต้นสัก” ให้ทั่วบริเวณวัด มีจำนวนถึง 300 ต้น จึงเป็นที่มาของชื่อ วัดป่าสัก


วัดป่าสัก เชียงแสนพระวิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขหน้า สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐฉาบปูน มีเสาศิลาแลงฉาบปูนจำนวน 8 ต้น ผ่านมุขหน้าเข้าไปข้างในพระวิหาร ด้านท้ายพระวิหารยกพื้นสำหรับประดิษฐานพระประธาน ถัดจากพระวิหาร คือ พระเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา 5 ยอด ที่ยังคงความสมบูรณ์และสวยงามจนถึงปัจจุบัน ยังมีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ผสมผสานศิลปะสุโขทัย พุกาม และหริภุญไชยเข้าด้วยกัน จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ รูปแบบของเจดีย์ประธานวัดป่าสัก เชียงแสน เป็นรูปแบบเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอับดับที่สองในประเทศไทย เจดีย์ห้ายอดคล้ายเจดีย์เชียงยืน ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน รอบเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูปสลับกับซุ้มเทวดา ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางเปิดโลก ลักษณะเรือนซุ้มจระนำนี้เป็นซุ้มซ้อนกัน 2 ชั้น ประดับลวดลายปูนปั้นลวดลายสวยงาม


“เชียงแสน โบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มีอยู่อีกหลายแห่ง ที่อยากเชิญชวนมาเที่ยวกัน”
การเดินทาง/วัดป่าสัก ต.เวียง อ.เชียงแสน อยู่นอกกำแพงเมืองเชียงแสน เลี้ยวขวาออกนอกกำแพงเมืองไปตามถนนประมาณ 200 เมตร  เปิด 8.00 – 17.00 น.

ร่วมแสดงความคิดเห็น