อิ่มเอมใจ ไหว้ทำบุญ ชมงานพุทธศิลป์ไทลื้อ “พระวัดแสนเมืองมา” เชียงคำ

การเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทาง 5 เชียงน้อย มาสู่อำเภอ “เชียงคำ” จังหวัดพะเยา ที่โดดเด่นในวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนไทลื้อ เมื่อช่วงปลายรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ชาวลื้อสิบสองพันนาได้อพยพมาอยู่ในล้านนาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มชาวไทลื้อจากพันนาเมืองพง มาตั้งหลักแหล่งในเชียงคำเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีวัดยังเป็นศูนย์รวมจิตใจแรงศรัทธาสู่งานสถาปัตยกรรม และศิลปะไทลื้อ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกันที่ “วัดแสนเมืองมา”

วัดแสนเมืองมา ตั้งอยู่ 133 หมู่ 4 บ้านมาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา วัดแสนเมืองมา มีมาจากชื่อหมู่บ้านมางในสิบสองปันนา ประเทศจีน วัดสร้างตามแบบศิลปะไทลื้อ ในบริเวณวัดมีทั้งภาษาไทยและภาษาจีน เนื่องจากมีชาวไทลื้อเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับสิบสองปันนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ ปี พ.ศ.2527 วัดแสนเมืองมา สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2400 และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ 2 ครั้ง คือ ในช่วงต้นของปี พ.ศ.2490 และ พ.ศ.2532 รูปแบบของวิหารสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมของไทลื้อผสมผสานกับสถาปัตยกรรมล้านนาอย่างลงตัว หลังคาเป็นแบบ 2 ชั้น ลดหลั่นกัน 2 ระดับ หลังคามีลักษณะโค้งลาดต่ำคลุมพระวิหารมุงด้วยแป้นเกล็ด ช่อฟ้าทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปหงส์ตามแบบศิลปะไทลื้อ หน้าบันประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายเป็นรูปเทพพนมรายล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา เป็นวิหารที่วิจิตรสวยงาม

สิ่งที่น่าสนใจภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองมีลักษณะเด่น คือ สร้างตามพุทธศิลป์ที่เป็นจารีตนิยมของไทลื้อ ซึ่งนิยมสร้างพระพุทธรูป มีพระเมาลีเป็นรูปเปลวเพลิง (สัญลักษณ์ของการตรัสรู้) พระกรรณยาวจรดพระอังสะ (แสดงถึงพระปัญญาคุณ) พระพักตร์ทรงเหลี่ยมแย้มสรวล อิ่มเอิบ (แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ) และพระพักตร์ดูอ่อนเยาว์ (แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ) องค์พระประธานสร้างโดยคงลักษณะตามพุทธศิลป์แบบจารีตไทลื้อ เป็นเพียงองค์เดียวที่มีอยู่ในอำเภอเชียงคำในขณะนี้ ภายในวิหารนี้ยังมีธรรมาสน์ แบบจารีตดั้งเดิมของไทลื้อที่สร้างขึ้นมาพร้อมพระวิหารหลังนี้ สร้างด้วยไม้ตั้งอยู่บนฐานอิฐก่อสูงมีผนังไม้ทึบรอบทั้งสี่ด้าน ลักษณะผายออก รอบนอกประดับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษามีบันไดและทางขึ้นอยู่ด้านหน้า ใช้สำหรับพระภิกษุสามเณรแสดงธรรมเทศนา ภายในวิหาร มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ ที่เดินทางอพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของประเทศจีน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลาประมาณ 200 ปี มี เรือนไทลื้อ ให้ได้ชมถึงภูมิปัญญาในการสร้าง ประกอบด้วย เฮือนนอน และฮือไฟ (ครัว) ส่วนทางหน้าเรือนเป็นพื้นโล่ง เรียกว่า “เติ๋น” หลังคาช่วงบนเป็นจั่วทรงสูง ที่จะร่วมสืบทอด ส่งเสริมและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตในรูปแบบชาวไตลื้อ

“ในช่วงเวลาสั้นๆ ความสุข ความสงบ ที่ใจเราได้สัมผัส นี่ แหละคือช่วงชีวิตที่ดีแล้ว”
วัดแสนเมืองมา 133 หมู่ 4 บ้านมาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา 56110 #วัดแสนเมืองมา ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ

ร่วมแสดงความคิดเห็น