(มีคลิป) กรมฝนหลวง เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ส่งอัลฟ่าเจ็ทบินเหนือท้องฟ้า ยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ

กรมฝนหลวง เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ส่งอัลฟ่าเจ็ท บินเหนือท้องฟ้า ที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ ยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ ช่วยเหลือประชาชน

วันที่ 22 ก.พ.65 นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นประธานเปิดปฏิบัติการฝนหลวง ยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ ภายใต้ความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ประจำปี 2565 โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ให้การต้อนรับ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งและบรรเทาความรุนแรง ของการเกิดพายุลูกเห็บในช่วงฤดูร้อน หรือช่วงที่กำลังเปลี่ยนฤดูกาล ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมและเขตชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับในปี 2565 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการจำนวน 2 หน่วย ได้แก่หน่วยปฏิบัติการ จ.เชียงใหม่ ใช้อากาศยานเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท จำนวน 1 ลำ รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ และ หน่วยปฏิบัติการ จ.พิษณุโลก ใช้อากาศยาน Super King Air 350 ของกรมฝนหลวงฯ จำนวน 2 ลำ รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศในการสนับสนุนอากาศยาน และบุคลากรในการดำเนินงานร่วมกัน ปฏิบัติการฝนหลวงในภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ โดยการใช้วิธีโจมตีด้วย “พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์” เป็นวิธีที่จะนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ เพื่อเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำ ละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรง และความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรของประชาชน อันเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้

นอกจากนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ จำนวน 2 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ และ หน่วยฯ จ.พิษณุโลก ปฏิบัติการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 พฤษภาคม 2564 รวม 31 วัน 38 เที่ยวบิน ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ทั้งสิ้น 810 นัด ผลจากการปฏิบัติการพบว่า ไม่มีรายงานการเกิดลูกเห็บตกในบริเวณที่ปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม อาจยังคงมีข่าวการเกิดลูกเห็บตกอยู่บ้าง นอกเหนือจากพื้นที่ปฏิบัติการ เนื่องจากข้อจำกัดและจำนวนอากาศยาน ที่มีและการเลือกพิจารณาพื้นที่เป้าหมายสำหรับปฏิบัติการ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตรก่อน เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของนิรภัยการบิน เช่น ไม่สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่แนวชายแดนได้ เนื่องจากเป็นอากาศยานความเร็วสูง ทั้งนี้ได้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยขณะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่การเกษตร มาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 4 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ และ จ.ขอนแก่น และจะมีการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 3 มีนาคม 2565 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมตั้งหน่วยปฏิบัติการ จำนวน 10 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.แพร่ และ จ.พิษณุโลก หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี และ จ.บุรีรัมย์ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น