จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อในครอบครัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ติดเชื้อกระจายออกสู่หลายอำเภอในจังหวัด

จังหวัดเชียงใหม่ยังคงพบผู้ติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง กระจายไปในพื้นที่หลายอำเภอ เน้นย้ำให้ประชาชนกักตัวอย่างเคร่งครัดและสังเกตอาการตนเอง เพื่อลดการแพร่เชื้อภายในครอบครัว

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ วันนี้ (22 ก.พ. 65) พบผู้ติดเชื้อยืนยันจากการตรวจ RT-PCR จำนวน 361 ราย แยกเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 354 ราย และอีก 7 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัด ขณะที่มีการตรวจพบผู้มีผลบวกจากการตรวจ ATK อีก 2,722 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ซึ่งถือว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้พบการแพร่ระบาดของเชื้อในคลัสเตอร์กลุ่มองค์กรและสถานที่ทำงานต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาล ตลาด แคมป์คนงานต่างด้าว และชุมชน รวมถึงในกลุ่มร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และการแพร่ระบาดในครอบครัว ยังคงกระจายอยู่ในหลายอำเภอแสดงว่า ประชาชนไม่เคร่งครัดในการกักตัว ทำให้เกิดการสัมผัสกันภายในครอบครัวมากขึ้น

ในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อเฉพาะ การตรวจแบบ RT-PCR วันนี้พบผู้ติดเชื้อกระจายไปหลายอำเภอ โดยพบมากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันทราย อำเภอหางดง อำเภอสันกำแพง และอำเภอสารภี

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่แยกตามช่วงอายุวันนี้ พบมากที่สุดในกลุ่มอายุตั้งแต่ 15-25 ปี ซึ่งเป็นวัยรุ่น และยังเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบจำนวนมากที่สุดในขณะนี้ รองลงมาเป็นกลุ่มอายุตั้งแต่ 25-35 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานตอนต้น ส่วนกลุ่มอายุ 0-15 ปี ที่อยู่ในวัยเรียนนั้น พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพบสัดส่วนของกลุ่มอายุอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นในลักษณะของการติดเชื้อจากการสัมผัสในครอบครัว

ด้านข้อมูลผู้เสียชีวิตวันนี้ 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 97 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน โดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เริ่มมีอาการไข้และไอ ภายหลังทราบว่ามีคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 จึงเข้ารับการตรวจ RT-PCR ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจอมทอง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 อาการดีขึ้น จึงกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 มีอาการไข้ต่ำๆ รู้สึกหายใจเหนื่อย จึงได้นำตัวนำส่งโรงพยาบาลนครพิงค์ ใส่ท่อช่วยหายใจ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบเป็นสายพันธุ์ Omicron และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ระบบหายใจล้มเหลว เสียชีวิต

ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในระยะนี้ ส่วนใหญ่มาจากสายพันธุ์ Omicron แม้จะทำให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมากขึ้นจึงขอความร่วมมือให้ประชาชนเคร่งครัดในมาตรการป้องกันโรค เข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสถานที่คนแออัด และอับอากาศ งดการจัดงานรวมกลุ่ม ปาร์ตี้สังสรรค์ ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ไปพื้นที่เสี่ยงมา หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อมา ต้องเคร่งครัดในการกักตัว และสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทันที รวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล หรือ D M H T T A ส่วนหน่วยงาน ร้านค้า สถานประกอบการต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด

ร่วมแสดงความคิดเห็น