“บ้านดอยผักกูด” หมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากชุมชนเพื่อความมั่นคง สู่สุดยอดหมู่บ้านกาแฟไทย

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2549 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรบ้านเมืองแพม หมู่ที่ 5 ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กราบบังคมทูลถวายรายงานแนวทางการพัฒนาจังหวัดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และข้อมูลหมู่บ้านเมืองแพม และผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 3 ได้กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านมะโอโคะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก, บ้านปางคอง ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า และบ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน การเสด็จฯ ในครั้งนี้ได้มีพระราชดำริให้ กรมชลประทานพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือราษฎรบ้านเมืองแพม ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรม

เนื่องจากฝายทดน้ำเดิมชำรุดจากอุทกภัย ทำให้ไม่สามารถใช้การได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงฤดูแล้ง นอกจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริกับ พลเอก นิพนธ์ ภารัญนิตย์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ สรุปความว่า ให้หมู่บ้านปางคาม ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และหมู่บ้านปายสองแง่ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านในโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร และเพื่อประโยชน์ในด้านความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยในความปลอดภัยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงมีพระราชดำริ “ให้พิจารณาหาแนวทางในการดำเนินงานจัดตั้งหมู่บ้านในรูปแบบบ้านยามชายแดน เพื่อพัฒนาราษฎรในพื้นที่ให้เข้มแข็ง มีส่วนร่วมรักษาประเทศชาติอย่างมีระบบ ตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร”


ปัจจุบัน หมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ “บ้านดอยผักกูด” ได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ จนเป็นชุมชนเข้มแข็ง เป็นสถานที่เพาะปลูกกาแฟ อราบิก้า ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ได้รับรางวัลถ้วยรางวัลพระราชทานของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2564 (Thai Coffee Excellence 2021) ในการประกวดคัดสรรสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ตามโครงการประชาสัมพันธ์สุดยอดกาแฟไทย ปี 2564 โดย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยการสนับสนุนจากองค์การกาแฟระหว่างประเทศ เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นที่ราบระหว่างหุบเขาของฝั่งลำห้วย เป็นต้นน้ำของน้ำแม่ลาง ซึ่งจะไหลผ่าน บ้านแอโก๋ และอำเภอปาย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1,423 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด ประมาณ 1,865 เมตร ซึ่งการปลูกกาแฟ เกษตรกรปฎิเสธการใช้สารเคมีใดๆ ในพื้นที่ จนกลายเป็นกาแฟออแกนิค อีกทั้งการเมล็ดกาแฟคั่วด้วยมือที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และภูมิปัญญาของชาวบ้าน และการรักษาคุณภาพของการคั่วกาแฟเป็นที่สำคัญอย่างยิ่ง คือความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้กาแฟดอยผักกูด มีคุณภาพที่สูงสามารถทัดเทียมได้ในระดับสากลได้ ทั้งนี้ ยังได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สำหรับคนรักกาแฟ สามารถเยี่ยมชมการปลูก การคั่ว ไปจนถึงการลิ้มรสกาแฟคั่วมือบ้านดอยผักกูด ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม


เมื่อวันที่ 17 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา พลเอก นิพนธ์ ภารัญนิตน์ รองประธานที่ปรึกษาโครงการพัฒนาราษฎรชาวไทยภูเขา และคณะ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมผลการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ด้วยหลักการดำเนินการ 3 ประกอบด้วย
1. ระบบประชากร
2. ระบบป้องกัน และ
3. ระบบพัฒนา
ส่วนระบบ 5 แผนงาน ประกอบด้วย
1. แผนรักษาแนวเขต
2. ส่งเสริมปัจจัยพื้นฐาน
3. เส้นทางคมนาคม
4. ส่งเสริมอาชีพ และ
5. การขออนุมัติโครงการพัฒนาฯ เพื่อการพัฒนาให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

ในการนี้ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขอเชิญชวนข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3, พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และเหล่านักท่องเที่ยวมาสัมผัส เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย รวมทั้งได้ลิ้มลองสุดยอดกาแฟไทย สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเดินทางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดิน 1095 ผ่านอำเภอแม่ริม ถึงอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นระยะทาง 130 กิโลเมตร จากนั้นสามารถเดินทางไปยังโครงการฯ ได้ 2 เส้นทาง หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 089-5543875

ร่วมแสดงความคิดเห็น