กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดน่าน ร่วมขับเคลื่อนโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ “สบขุ่นโมเดล”

บ้านสบขุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ตั้งชุมชนและพื้นที่ถือครอง เพื่อการทำกินทางการเกษตรโดยมีพื้นที่เขต จังหวัดน่าน และจังหวัดพะเยา อยู่บนพื้นที่ภูเขาสูงชัน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำยม ประชาชนเป็นชาวพื้นเมือง ตั้งถิ่นฐานมานานหลายชั่วอายุคน โดยประชาชนที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันในช่วงแรก เป็นประชาชนที่อพยพมาจากหลายแห่ง ทั้งจากจังหวัดน่านและจังหวัดพะเยา ปัจจุบันมีประชากร จำนวน 1,575 คน 319 หลังคาเรือน


ประชาชนบ้านสบขุ่น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักด้านเกษตรกรรม ได้แก่ การทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนใหญ่ โดยพื้นที่เพาะปลูกเป็นพื้นที่ภูเขาสูงและลาดชัน ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินสูง ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินลดลงต่อเนื่องทุกๆ ปี ส่งผลให้ประชาชนต้องอาศัยปุ๋ยเคมีและสารเคมีในปริมาณที่มากขึ้น ในขณะที่สุขภาพอนามัยของเกษตรกรเสื่อมถอย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นทุกปี ประกอบกับในปัจจุบัน ราคาผลผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความผันผวน ในบางปีราคาผลผลิตราคาตกต่ำ ส่งผลให้ประชาชนประสบภาวะหนี้สินตามมา


ในการนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดน่าน จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยน้อมนำแนวทางในการดำเนินงานตามกระบวนการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งได้ข้อสรุปแนวทางในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยสร้างอาชีพทางเลือกให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ให้สามารถมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพอยู่ร่วมกับป่า ได้โดยไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการสนับสนุนการปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิก้า ซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสามารถทดแทนการปลูกข้าวโพดได้ และต้องอาศัยพืชพี่เลี้ยงที่เป็นร่มเงาในการเจริญเติบโต เหมาะสมกับแนวพระราชดำริฯ “สร้างป่า สร้างรายได้” นอกจากจะเป็นอาชีพทางเลือกทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ดิน น้ำและเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะได้คืนผืนป่าตามลำดับ


และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดน่าน ร่วมกับ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จังหวัดน่าน, เครือเจริญโภคภัณฑ์ ,อุทยานแห่งชาตินันทบุรี, หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ อำเภอท่าวังผา และผู้นำชุมชนบ้านสบขุ่น ในการตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการป่าสร้างรายได้ “สบขุ่นโมเดล” เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ ที่ได้ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2559 รวมทั้งได้รวบรวมปัญหาในการดำเนินการ ไปประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางในการช่วยเหลือ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดการพัฒนาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย เพื่อให้คนอยู่ได้ (มีรายได้มั่นคงยั่งยืน) ป่าอยู่ดี (ธรรมชาติฟื้นคืนไม่ถูกทำลาย) และชุมชนอยู่อย่างมั่งมีความสุข (บนพื้นฐานความพอเพียง) สืบไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น