(มีคลิป) ปางช้างปลูกผักกินเองต่อชีวิตพนักงานและครอบครัวกว่า 200 คน ชูโมเดล “แรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง”

วันที่ 24 ก.พ. 65 ควาญช้างและพนักงานปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ลงแปลงพรวนดินกำจัดวัชพืช ดูแลแปลงพืชผักสวนครัวที่มีทั้ง ผักบุ้ง ผักสลัด คะน้า โหระพา ผักกาดขาว ซึ่งทั้งหมดนี้พนักงานปางช้างแม่สาได้ช่วยกันปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตนำไปเป็นวัตถถดิบประกอบอาหารในโรงครัวสวัสดิการ เป็นอาหารเลี้ยงพนักงานและครอบครัวรวมกว่า 200 ชีวิต ช่วยประคับประคองความเป็นอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำปางช้างไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ถึงขั้นเคยติดค้างเงินเดินพนักงานมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยการปลูกพืชผักที่นี่ยังใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้าง ปลอดสารพิษและมีคุณภาพ ช่วยประหยัดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง

โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “แรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” ของกรมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ส่งเสริมให้สถานประกอบการที่มีความพร้อม ใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้ลูกจ้างใช้เวลาว่างเพาะปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ นำผลผลิตไปบริโภคในครัวเรือนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคสามารถนำไปจำหน่ายในชุมชน อันเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกจ้าง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสนับสนุนเมล็ดพันธ์ให้เพื่อช่วยสถานประกอบการลดต้นทุน
โดยในวันนี้ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามโครงการที่ปางช้างแม่สา ระบุว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 99 แห่ง โดยการดำเนินการที่ปางช้างแม่สาถือเป็นหนึ่งในต้นแบบ เพราะมีการนำมูลช้างมาทำปุ๋ยปลูกผัก ถือเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่มาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ ช่วยลดต้นทุนได้ดี ขณะที่ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตั้งเป้าดึงสถานประกอบการเข้าร่วมให้ได้ถึง 300 แห่ง


ด้าน นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กรรมการผู้จัดการปางช้างแม่สา บอกว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากพนักงานเป็นอย่างดี ผลผลิตทั้งหมดจะถูกนำไปประกอบอาหารที่ครัวสวัสดิการ ทำอาหารแจกพนักงานรับประทานฟรี พืชผักที่ปลูกพบว่าช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบได้วันละประมาณ 600 บาท หรือ เดือนละกว่า 20,000 บาท โครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปและขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม โดยปางช้างที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 จะทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือพนักงานและครอบครัวและช้างที่มีอยู่กว่า 70 เชือก โดยหวังว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นตัวในเร็ววันนี้

ผลกระทบจากการท่องเที่ยวทำให้ในปีนี้ปางช้างแม่สาตัดสินใจงดจัดกิจกรรมวันช้างไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 13 มีนาคม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น