หัวต้องไว ใจต้องสู้ !! เกษตรแพร่ นำเกษตรกรแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานศึกษาดูงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งในองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตร

ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2565 นายประภาส สานอูป เกษตรจังหวัดแพร่ มอบหมายให้นางสาวกรณ์สิรี อภิสิริรัชฏ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ สำนักงานเกษตรอำเภอลองและสำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น นำกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานในพื้นที่จังหวัดแพร่ จำนวน 6 กลุ่ม รวม 55 ราย เดินทางศึกษาดูงานตามกิจกรรม เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลผลิตส้มเขียวหวาน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์จังหวัดแพร่ (งบพัฒนาจังหวัดแพร่ พ.ศ.2565) ในพื้นที่จังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ดำเนินการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามจุดต่างๆ ได้แก่
1. กลุ่มแปลงใหญ่ลำไยริมปิง ตำบลริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ที่มีผลการดำเนินงานด้านการรวมกลุ่มในการผลิตและการตลาด มีการนำนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่โดยเกษตรกรรุ่นใหม่มาปรับในพื้นที่อย่างเหมาะสมและมีการผลิตลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน ในการขอรับตราสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไม้ผลอัตลักษณ์ (GI)
2. สหกรณ์การเกษตรตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นกลุ่มสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง ดำเนินการโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร และมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตร (ลำไยคุณภาพ) จำหน่ายในตลาดระดับพรีเมี่ยมและตลาดออนไลน์
3. สวนส้มจันทร์ทวี ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีการผลิตส้มสายน้ำผึ้งคุณภาพดีได้มาตรฐาน มีการแปรรูปผลผลิตที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคารวมถึงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรในพื้นที่4. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดเรียนรู้การปลูกสตอเบอรี่ที่สำคัญ มีการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ของอำเภอสะเมิงและยังเป็นจุดเรียนรู้การทำแปลงระบบน้ำแบบเกษตรอัจฉริยะ (Handy Sense) ของกรมส่งเสริมการเกษตรด้วย
5. ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยีการแปรรูปสมัยใหม่ รวมถึงการสร้างและออกแบบบรรจุภัณฑ์ทางอาหารที่โดดเด่นร่วมสมัย
6. ศูนย์คัดผลิตผล มูลนิธิโครงการหลวง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนรู้แนวทางการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน GAP และ HACCP รวมถึงการเข้าเยี่ยมชมโรงคัดบรรจุผลผลิตและร้านค้า Outlet ของมูลนิธิฯ


โดยในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้ร่วมคณะเป็นอย่างมาก มีก่ีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการเกษตรทั้งส้มเขียวหวานและสินค้าไม้ผลต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาสินค้าส้มเขียวหวานจังหวัดแพร่ในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ คณะศึกษาดูงาน ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ทางสาธารณสุขของพื้นที่จังหวัดปลายทางอย่างเคร่งครัดและได้มีการให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาดูงาน มีการคัดกรองโรคติดต่อฯ โดยการ ATK ผู้ร่วมคณะศึกษาดูงานทุกราย ไม่พบการแพร่ระบาดของโรคติดต่อฯ ตลอดระยะเวลาการศึกษาดูงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น