“ผลกระทบ-ท่าทีรัฐบาลไทย” ต่อ “วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน”

 

 

ทันทีที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการพิเศษทางการทหารในภูมิภาคดอนบาสส์ ทางตะวันออกของยูเครน มีเสียงระเบิดเกิดขึ้นในกรุงเคียฟและหลายเมืองของยูเครนหลายระลอกเมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ผลกระทบมากน้อยที่ตามมาย่อมมีต่อไทยและทั่วโลกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดในทันทีทันใดคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย หรือ SET ลดลงถึง 33.73 จุด หรือลบ 1.99% เมื่อปิดตลาดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก ความผันผวนด้านราคานี้ยังลามไปถึงตลาดทองคำ น้ำมัน คริปโตฯ โดยเรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่านักลงทุนต่างวิตกต่อภาวะสงครามที่เกิดขึ้นนั่นเอง

ผลกระทบประการต่อมาที่เกิดขึ้นทันทีกับไทยคือ การอพยพคนไทยในยูเครนที่มีอยู่ราว 230 คน ออกไปยังที่ปลอดภัยและกลับประเทศไทยทันทีที่เกิดภาวะวิกฤต ในเรื่องนี้ทางพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยคนไทยที่อยู่ในยูเครน จึงสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศเข้าช่วยเหลือคนไทยในยูเครน โดยทางกระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดแผนอพยพคนไทยไว้พร้อมแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ที่มีอาณาเขตดูแลประเทศยูเครนด้วย ได้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มคนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงทีหากมีเหตุจำเป็นและพร้อมปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ คือ ใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำอพยพคนไทยจากเมืองลวิฟ (Lviv) ของยูเครนโดยตรง
กรณีน่านฟ้าปิด จะอพยพคนไทยมารวมกันที่เมืองลวิฟ เพื่อเดินทางข้ามแดนโดยรถต่อไปยังกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เพื่อขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำกลับไทย กรณีสุดท้ายคือ ทางการไทยจะจัดเครื่องบินเช่าเหมาลำไปรับคนไทยที่ยูเครน หรือ กรุงวอร์ซอ ซึ่งการบินไทยและกองทัพอากาศ ได้ร่วมเตรียมการไว้พร้อมแล้ว ความเป็นไปได้น่าจะเป็นแผน 2 เพราะทางยูเครนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและปิดน่านฟ้าแล้ว
ผลกระทบต่อไทยในระยะต่อมาทั้งระยะกลางและระยะยาว หากมองด้านเศรษฐกิจเป็นหลักแล้วก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยแต่ก็ไม่ถึงกับมากมายนัก นักการเงินอย่าง อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุนธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 3 ด้านคือ เงินเฟ้อ ส่งออกและท่องเที่ยว โดยเฉพาะเงินเฟ้อจะเป็นด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด เพราะรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุด เมื่อรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากยุโรป ทำให้ยุโรปต้องหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันให้มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีโอกาสไปสู่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินเฟ้อของไทยและต่างประเทศเร่งตัวแรงขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด คาดว่าสถานการณ์นี้จะลากยาวไปถึงกลางไตรมาส 2
ส่วนด้านการส่งออก แม้ไทยจะส่งออกไปรัสเซียไม่มาก หรือประมาณหลักพันล้านดอลลาร์ แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว เพราะไทยส่งออกไปยุโรปถึง 10% จึงอาจทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวได้
ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 นักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทยประมาณ 4 ล้านคน หรือ 4% ของนักท่องเที่ยวโดยรวม หากเงินรัสเซียอ่อนค่า อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาไทยลดลง หรือหากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว อาจเห็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มยุโรปมาไทยลดลงเช่นกัน ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของไทยในขณะนี้
ท่าทีรัฐบาลไทยต่อ” วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน” กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของรัฐบาลไทยบนเว็บไซต์กระทรวง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยระบุว่า ประเทศไทยได้ติดตามพัฒนาการในยูเครนด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทวีความตึงเครียดในทวีปยุโรป ทั้งนี้ เราสนับสนุนความพยายามที่ยังคงดำเนินอยู่เพื่อแสวงหาการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติผ่านการหารือ
สอดคล้องกับนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ที่กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์คสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ (ตามเวลาในไทย 24 ก.พ.) ว่า ประเทศไทยเฝ้าติดตามสถานการณ์ในยูเครนด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรง ซึ่งคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ประเทศไทยสนับสนุนความพยายามในการหาทางยุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสันติผ่านการเจรจาที่เป็นไปตามกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยธำรงไว้ซึ่งหลักการว่าด้วยอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
ประเทศไทยยังสนับสนุนการเรียกร้องของเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่ให้หาทางยุติเรื่องนี้อย่างสันติวิธี ตามแนวทางของข้อตกลงมินสก์ รวมถึงความพยายามของสหประชาชาติและกลไกในระดับภูมิภาค รวมถึงองค์การเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป หรือโอเอสซีอีและนอร์มังดี ฟอร์แมต เพื่อลดความตึงเครียดและหาข้อยุติอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยยังคงกังวลเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดประเด็นทางด้านมนุษยธรรมตามมา ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยร่วมเรียกร้องกับประชาคมระหว่างประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้นให้ถึงที่สุด รวมถึงการให้ความมั่นใจว่าจะปกป้องคุ้มครองประชาขนและโครงสร้างพื้นฐานฝ่ายพลเรือน
ท่าทีของไทยผ่านแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำ UN ถือว่าถูกต้องเหมาะสมที่สุดในเวลานี้แล้ว
ที่มาสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น