ปภ.แนะรู้รับมือแผ่นดินไหว ลดเสี่ยงอันตรายร้ายแรง

แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลา สถานที่เกิด และระดับความรุนแรงได้ อีกทั้งยังสร้าง
ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีเตรียมพร้อมรับมือและข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้
ผลกระทบจากแผ่นดินไหว
– ขนาด 1 – 2.9 ตามมาตราริกเตอร์ เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย รู้สึกถึงการสั่นไหว เวียนศีรษะ
– ขนาด 3 – 3.9 ตามมาตราริกเตอร์ เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย หากอยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนรถไฟหรือรถบรรทุกวิ่งผ่าน
– ขนาด 4 – 4.9 ตามมาตราริกเตอร์ เกิดการสั่นไหวปานกลาง รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน วัตถุที่แขวนแกว่ง
– ขนาด 5 – 5.9 ตามมาตราริกเตอร์ เกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือนและวัตถุมีการเคลื่อนที่หรือตกหล่น
– ขนาด 6 – 6.9 ตามมาตราริกเตอร์ เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารและสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงเริ่มเสียหายหรือพังทลาย
วิธีรับมือแผ่นดินไหว
– เรียนรู้รับมือแผ่นดินไหว โดยศึกษาวิธีตัดกระแสไฟฟ้า ปิดวาล์วน้ำและถังแก๊ส พร้อมวางแผนการอพยพและกำหนดจุดนัดพบที่ปลอดภัย
– จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย โดยยึดติดเฟอร์เจอร์กับพื้นหรือผนังบ้าน ไม่วางสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนหลังตู้หรือที่สูง
– จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็น อาทิ ไฟฉาย ถ่ายไฟฉาย ยา อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หลักปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
– ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก และหาที่หลบในบริเวณปลอดภัย
– ปฏิบัติตามหลัก “หมอบ ป้อง เกาะ” หมอบใต้โต๊ะหรือหลบในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง หากไม่มีที่กำบังให้หมอบราบกับพื้นหรือก้มต่ำ โดยใช้แขนหรือมือกำบังศีรษะและลำคอ เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งของตกใส่
– ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย อาทิ ใต้คาน ใกล้เสา ระเบียง ประตูและหน้าต่างที่เป็นกระจก รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มได้
– ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพโดยเด็ดขาด เพราะหากไฟฟ้าดับจะติดค้างภายในลิฟต์
– ห้ามก่อให้เกิดประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่ว จะทำให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้
– กรณีอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล หากน้ำทะเลลดอย่างรวดเร็ว ให้อพยพขึ้นที่สูงห่างจากชายฝั่งมากที่สุด หากล่องเรือ
อยู่กลางทะเล ห้ามนำเรือกลับเข้าชายฝั่ง เพราะจะได้รับอันตรายจากคลื่นสึนามิ
– ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่โครงสร้างเสียหาย ไม่อยู่ใกล้ผนัง กำแพง และเสาไฟฟ้าที่ทรุดตัว รวมถึงบริเวณที่สายไฟฟ้าขาด
– กรณีอยู่นอกอาคาร อยู่ให้ห่างต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา กำแพง อาคาร บ้านเรือน ตึกสูง ไม่อยู่ใต้สะพานหรือทางด่วน
– ติดตามข่าวสารสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำและประกาศเตือนภัยเคร่งครัด
ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีเตรียมพร้อมรับมือและการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยจากแผ่นดินไหว จะช่วยลดผลกระทบและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น