มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร บัณฑิตรุ่นที่ 19

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตร บัณฑิตรุ่นที่ 19 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยปีนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช เข้ารับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ และมี นายวุฒิชัย แซ่ลี้ บัณฑิตพิการการมองเห็นเข้ารับปริญญาบัตรจากสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมจีน สำนักวิชาจีนวิทยา ใช้อักษรเบรลล์ภาษาจีนเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรเป็นรายที่สองของมหาวิทยาลัยและของประเทศ

เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2563 ณ หอประชุมสมเด็จย่า โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีผู้ก่อตั้ง กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช เข้ารับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอนุมัติ

ด้วยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในด้านทันตกรรมประดิษฐ์ เป็นผู้ริเริ่มคิดค้นพัฒนาระบบการให้บริการด้านทันตกรรมแก่ชุมชนในถิ่นทุรกันดาร  การจัดทำอุปกรณ์และเครื่องมือทันตกรรมขึ้นใช้เองภายในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน อุทิศตนในการทำงานโดยใช้ความรู้ ความสามารถเพื่อสร้างคุณูปการต่อสังคมและประเทศชาติ จนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในวงการวิชาการและวิชาชีพทันตแพทย์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

สำหรับปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษา ทั้งระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต จำนวน 3,034 คน โดยมีนายวุฒิชัย แซ่ลี้ ผู้สำเร็จการศึกษาที่พิการการมองเห็น ใช้อักษรเบรลล์ภาษาจีนเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอนเป็นรายที่สองของมหาวิทยาลัยและของประเทศ เข้ารับปริญญาบัตรจากสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมจีน สำนักวิชาจีนวิทยา พร้อมกับผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักวิชาต่างๆ ดังนี้ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ, พยาบาลศาสตร์, แพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, นวัตกรรมสังคม, จีนวิทยา, การแพทย์บูรณาการ, ศิลปศาสตร์, วิทยาศาสตร์, การจัดการ, เทคโนโลยีสารสนเทศ, อุตสาหกรรมเกษตร, นิติศาสตร์, วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง และเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประจำปีการศึกษา 2563 ในวันนี้. ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคนที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ

บัณฑิตทั้งหลายต่างก็สำเร็จการศึกษา สมกับที่ได้ตั้งใจพากเพียรมาโดยตลอดแล้ว ต่อไปก็ถึงวาระที่จะต้องออกไปทำงาน เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตนเองและส่วนรวม. ในการทำงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานใด ในสาขาใดก็ตาม หากมุ่งหวังความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้า ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมอยู่เสมอ. การจะทำให้ได้ดังที่กล่าว บัณฑิตต้องศึกษาพื้นฐานของงานและปัจจัยแวดล้อมทุกอย่าง ให้เข้าใจกระจ่างและทั่วถึงตามเป็นจริง แล้วลือกสรรหลักวิชาและวิธีการปฏิบัติให้ถูกตรง พอเพมาะพอดีกับงาน กับสถานการณ์และความจำเป็น เพื่อให้งานที่ทำดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ จนสำเร็จผลที่ดีที่ถูกต้องเป็นคุณเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมพร้อมทุกส่วน. ถ้าทำได้ดังนี้ แต่ละคนก็จะได้รับความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าในงาน สมดังที่มุ่งหวังตั้งใจ

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคน และผู้มาร่วมในพิธีนี้ทุกท่าน  ประสบความสุขสวัสดี พร้อมทั้งความเจริญรุ่งเรืองโดยทั่วกัน

ในโอกาสนี้อธิการบดี ได้ทูลเกล้าถวายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ

 

ด้วยตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย มีชื่อเสียงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรคือสับปะรดนางแลและสับปะรดภูแล ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ภาคบริการ และการท่องเที่ยวภายในชุมชน ทำให้ผลผลิตสับปะรดล้นตลาด-ราคาตกต่ำลง กระทบรายได้และคุณภาพชีวิตของชุมชน มหาวิทยาลัยจึงได้นำนักวิจัยจากสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักวิชาการจัดการ และเจ้าหน้าที่โครงการ U2T ตำบลนางแล ร่วมกับเทศบาลตำบลนางแลและแกนนำชุมชน จัดทำแผนยกระดับเศรษฐกิจชุมชนโดยเน้นการพัฒนาผลิตอาหารอย่างครบวงจร แก้ปัญหาความยากจน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้กับครัวเรือนในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบของชุมชน ได้แก่ สัปปะรดนางแล สับปะรดภูแล และหมูหลุม เป็นวัตถุดิบหลักและนำเทคโนโลยีการอาหารมาใช้ในการแปรรูปเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ

ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย แยมสับปะรดพลังงานต่ำ, ข้าวแต๋นซอสสับปะรด, แกงฮังเลหมูหลุมใส่สับปะรดในถุงรีทอร์ตเพาซ์, ผงหมักเนื้อนุ่ม, แคบหมูป๊อปด้วยไมโครเวฟ นอกจากนี้ยังมี น้ำผึ้งโพรงธรรมชาติจากตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย, แชมพู สบู่เหลว จากพืชสมุนไพรท้องถิ่น จากตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย, ตะกร้าหวาย จากตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จ.เชียงราย, ตัวลวง (ลวงน้อยแล่นฟ้า) และนางนก (นางนกเริงร่า) ผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายทอมือ ตำบลศรีดอยชัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น