กรมอนามัย เผย จุดความร้อนบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ค่าฝุ่นสูงระดับสีแดง หวั่นกระทบสุขภาพ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยพบจุดความร้อนจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวมถึงการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน จะส่งผลให้ฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เท่ากับ 98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เสี่ยงกระทบสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคม 2565 นี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ โดยพบเกินค่ามาตรฐานในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ พะเยา ตาก พิจิตร ราชบุรี ปราจีนบุรี หนองคาย และระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) 1 จังหวัด คือ ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เท่ากับ 98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดการณ์ว่า บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ จะมีสภาพอากาศปิด และพบจุดความร้อนจำนวนมาก เนื่องจากการเผาในพื้นที่ ภาคเหนือตอนบน รวมถึงการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน จะส่งผลให้ฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นได้ และหมอกควันจากการเผาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และประเทศเพื่อนบ้าน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ได้

​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากการเฝ้าระวังอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง ขนาดเล็กด้วยตนเอง ผ่าน 4health_ PM2.5 ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 ถึงปัจจุบัน พบว่าประชาชน มีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับผัสฝุ่นละอองถึงร้อยละ 62.65 โดยอาการที่พบส่วนใหญ่จะเป็นอาการเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่มีโรคประจำตัวจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น อาการหายใจลำบากเหนื่อยง่าย และหายใจมีเสียงหวีด เป็นต้น ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่ 10 จังหวัด ควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th หรือ แอปพลิเคชั่น “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ โดยต้องแปลผลให้ถูกต้อง หากค่า PM2.5 อยู่ในช่วง 51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเท่ากับค่า AQI ที่ 101–200 ถือว่าอยู่ในระดับเกินมาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แต่หากพบค่า PM2.5 ที่สูงกว่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ซึ่งเทียบเท่า AQI ที่สูงกว่า 201 ขึ้นไป อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำ อย่างเคร่งครัด โดยคอยสังเกตอาการตนเอง และคนใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวีด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ โดยประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง พร้อมรับคำแนะนำเบื้องต้น ได้ที่ https://4health.anamai.moph.go.th/index หรือ LINE Official “4Health_PM2.5” สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยา อุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนลดการเผาในที่โล่งทุกชนิด เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละออง

​ “ทั้งนี้ ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงจะต้องป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากทุกครั้ง เมื่อออกนอกบ้าน สำหรับการเลือกและใช้หน้ากากที่ถูกต้องขอให้ใช้หลัก 3-3-1 โดย 3 ตัวแรกคือ การเลือก ซึ่งมีวิธีการเลือก ดังนี้ 1.) เลือกหน้ากากที่ได้มาตรฐาน สะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติหรือฉีกขาด 2.) เลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับลักษณะงานหรือกิจกรรมของผู้สวมใส่ และ 3.) เลือกขนาดให้เหมาะสมกับใบหน้า สำหรับ 3 ตัวที่สองคือ การใช้ ได้แก่ 1.) ใช้สวมให้ถูกต้อง โดยครอบจมูกและปาก โดยไม่สวมไว้ใต้คาง 2.) ไม่สวมหน้ากาก ขณะออกกำลังกาย เนื่องจากการสวมทำให้หายใจลำบาก และทำให้เหนื่อยง่ายกว่าปกติ 3.) ไม่ใช้หน้ากาก ร่วมกับผู้อื่น และ 1 ตัวสุดท้าย คือ การทิ้ง ต้องทิ้งลงถังขยะและล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น