จ.เชียงราย จัดสัมมนาโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 มี.ค. 65 นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการสัมมนาโครงการประชาสัมพันธ์และติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนาน โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ปีการผลิต 2564/65 โดยมีนายกษิดิศ ศรีพันธุ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอเทิง เป็นตัวแทนเกษตรจังหวัดเชียงราย และนายวิทกรณ์ วรรณสอน ผอ.สำนักงาน ธกส. จังหวัดเชียงราย ร่วมบรรยายให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนา มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในพื้นที่และผู้นำชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 50 คน ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลเวียงเทิง ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย

การประชุมสัมมนาดังกล่าวมีขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65 ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีสินค้าเกษตรหลักที่จะได้รับการประกันรายได้ จำนวน 5 ชนิด อันได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา และนอกจากนี้การสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อติดตามการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงรับทราบปัญหา อุปสรรค ของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อนำผลการหารือที่ได้ไปสรุปและนำเสนอคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการประชาสัมพันธ์โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ “ข้าว” ซึ่งจังหวัดเชียงรายเคยมีการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 64 เพื่อขอให้ ผวจ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือเนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ จนมีการนำไปเทียบกับราคาบะหมี่สำเร็จรูป และมีการยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 9 ข้อ ซึ่งในการยื่นหนังสือในครั้งนั้นทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ก็ได้เข้าร่วมในการหารือดังกล่าว และรับเอาปัญหาข้อเดือดร้อนของเกษตรกรไปนำเสนอกับหน่วยงานที่มีอำนาจแล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป

ในขณะที่ผู้ร่วมสัมมนาได้นำเสนอปัญหาการผลิตสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตมีราคาสูง เช่น ปุ๋ย น้ำมัน ฯลฯ สวนทางกับรายได้ที่มีราคาต่ำ ทำให้เกิดปัญหาการขาดทุนตามมา และการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยที่ไม่สอดคล้องตามความเป็นจริง เช่น “ข้าวเหนียว” เกษตรกรในพื้นที่เชียงรายมีการพัฒนาการผลิตเรื่อยๆ ในปีหนึ่งสามารถผลิตได้ประมาณ 1,000 กก./ไร่ แต่ทางภาครัฐจ่ายชดเชยแค่เพียง 387 กก./ไร่ และอีก 600 กก.กว่า ที่หายไปเกษตรกรก็ต้องนำไปขายที่อื่น อยากให้ภาครัฐแก้เกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยให้เหมาะสมตามความเป็นจริง

จากข้อมูลล่าสุด กรมการค้าภายใน โดยคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการ “ประกันรายได้เกษตรกร” ผู้ปลูกข้าวได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 65 เห็นชอบการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่าง “ประกันราคาข้าว” ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 (งวดที่ 21) ดังนี้

1.ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงประจำวันที่ 4 มี.ค. 65 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่าง “ประกันราคาข้าว” ให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 (งวดที่ 21) ให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 ที่ระบุวันที่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 25 ก.พ. – 3 มี.ค. 65 สำหรับข้าวเปลือกชนิดต่าง ๆ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยว ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,986.30 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,284.10 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 8,279.52 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,685.12 บาท

2.การชดเชยส่วนต่างระหว่างราคา “ประกันรายได้เกษตรกร” กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง มีอัตราส่วนต่างที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรใช้ในการจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สำหรับการจ่ายเงิน งวดที่ 21 ในวันที่ 4 มี.ค. 65 ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยว ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 2,013.70 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 715.90 บาท และข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 1,720.48 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 2,314.88 บาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น